"รัฐบาลขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ 4 ปี สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาท" นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

Last updated: 11 ก.ย. 2567  |  253 จำนวนผู้เข้าชม  | 

"รัฐบาลขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ 4 ปี สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาท" นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

รัฐบาลขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ 4 ปี สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาท

          ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล นำโดยพรรคเพื่อไทย เริ่มขับเคลื่อนแล้ววันนี้ ผ่านนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ถือเป็นนโยบายสำคัญในการนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง ด้วยการอัพสกิล รีสกิลประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ และอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ

          วันนี้ กองบรรณาธิการได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หัวเรือหลักในการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ให้ประสบความสำเร็จ ผ่านการวางแนวคิด กำหนดยุทธศาสตร์ และแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย

“ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลนี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เปลี่ยนจากการพึ่งพากำลังแรงงาน ที่ได้ค่าตอบแทนต่ำ หันมาพึ่งพาแรงงานทักษะสูง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น”

และการที่จะทำให้คนไทยหลุดพ้นจากความยากจน รัฐบาลจึงมีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้รับการฝึกฝนทักษะ “อัพสกิล – รีสกิล” ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น 1หมู่บ้าน  1 เชฟอาหารไทย หรือ 1 ครอบครัว 1 นักมวยไทย หรือ 1 ครอบครัว 1 นักดนตรี, ศิลปะ และภาพยนตร์ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลกำลังเตรียมงบประมาณและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อผลักดันนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย


จัดตั้งองค์กรขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์

          ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจใช้ฮาร์ดพาวเวอร์ในการทำให้ประเทศต่าง ๆ ยอมอยู่ภายใต้อำนาจ แต่โลกปัจจุบันซอฟต์พาวเวอร์เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำให้สังคมอื่น ประเทศอื่นยอมรับ หลงใหล ชื่นชอบในวิถี ประเพณี และวัฒนธรรมของเรา “จากการนิยาม ดูเหมือนจะง่าย แต่ความยาก คือวิธีปฏิบัติ เพราะการประยุกต์นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงไม่มีสูตรสำเร็จ”

          นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบกับฮาร์ด พาวเวอร์ จะต้องมีคน เทคโนโลยี และมีอำนาจระหว่างประเทศ การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์จากนี้ไป คือการสร้างนักรบซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นต้นน้ำที่สำคัญ และจะต้องมีจำนวนมาก วันนี้หากอยากจะเปิดร้านอาหารไทย 1 แสนร้านทั่วโลกไม่ยาก แต่ต้องสร้างนักรบ คือเชฟอาหารไทยให้ได้เสียก่อน หรือหากอยากผลักดันมวยไทย ให้เป็นกีฬาของคนทั่วโลก ก็ต้องสร้างโค้ชมวยไทย ส่วนกลางน้ำ เปรียบเทียบกับฮาร์ดพาวเวอร์ ก็ต้องมี อาวุธ สำหรับซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่รถถัง หรือเรือดำน้ำ แต่อาวุธของซอฟต์พาวเวอร์ คือ การแก้ไขกฎ ระเบียบต่าง ๆ ที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ การอำนวยความสะดวกและสร้างระบบนิเวศที่ดีของภาครัฐ และมีเงินทุนสนับสนุน เป็นต้น

“รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันร่างพรบ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ โดยมีสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์เป็นเหมือนซุปเปอร์เอเยนซี่ ที่จะพัฒนาต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีองค์กรเฉพาะด้านต่าง ๆ อยู่ในนี้ด้วย อาทิ สภาภาพยนตร์ สภาดนตรี สถาบันหนังสือแห่งชาติ สถาบันอาหารขณะนี้การจัดทำร่างกฎหมายฉบับแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนรวบรวมความเห็น เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในเดือนก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา คาดว่ากฎหมายจะผ่านกลางปี 2568 และจะจัดตั้งองค์กรโดยเร็ว” นพ.สุรพงษ์ระบุ

ร่าง พรบ.ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จะมีการจัดตั้งองค์กรที่เรียกว่า “THACCA” หรือ Thailand Creative Culture Agency คล้ายกับ KOCCA (Korea Creative Content Agency) ของเกาหลีใต้ หรือ TAICCA (Taiwan Creative Content Agency) ของไต้หวัน เป็นองค์กรที่จะมาขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

 

เร่งแก้ไขกฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรค

          อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอจัดตั้งองค์กร มีการแก้ไขกฎหมาย และข้อจำกัดในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อให้การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ดำเนินไปได้ เช่นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ได้มีการแก้ไขเรื่องกระบวนการจัดเรตติ้งภาพยนตร์โดยเพิ่มสัดส่วนกรรมการจากภาคเอกชน เพื่อให้เป็นทิศทางเดียวกับการส่งเสริมภาพยนตร์ทั่วโลก การจัดตั้ง One Stop Service ให้กองถ่ายทำภาพยนตร์ที่ต้องการเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ติดต่อ ณ จุดเดียว การแก้ไขปัญหาด้านเงินทุนให้กับโครงการสร้างภาพยนตร์ หนังสั้น รวมถึงการสนับสนุนผู้ผลิตภาพยนตร์ไทย ซีรีส์ต่าง ๆ ไปร่วมงานเทศกาลระดับโลก การให้ทูตพาณิชย์ในประเทศต่าง ๆ นำภาพยนตร์ไทยไปเผยแพร่ รวมถึงมาตรการภาษีต่าง ๆ ที่สนับสนุนเรื่องภาพยนตร์ ศิลปะ เป็นต้น

          นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ เป็นโอกาสในการสร้างตัวตนของประเทศไทย และนำพลังของซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลก อย่างเช่นภาพยนตร์เรื่ององค์บาก เมื่อ 20 ปีก่อน ที่สร้างกระแสมวยไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อกลาง ถือเป็นพาหนะสำคัญที่จะช่วยให้เกิดประโยชน์มหาศาล ซึ่งต่อไปการพิจารณาสนับสนุนภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ถ้ามีการสอดแทรกเรื่องมวยไทย อาหารไทย แฟชั่นของไทย จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เพราะภาพยนตร์จะช่วยนำพาสิ่งเหล่านี้ออกสู่ตลาดโลกได้ และเป็นสร้างโอกาสให้กับซอฟต์พาวเวอร์ไทย

          นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นทีวีดิจิทัล แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มีความสำคัญที่จะนำพาซอฟต์พาวเวอร์ไทยออกสู่ตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลกำลังหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เข้มแข็ง กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ได้มากยิ่งขึ้น

 

ตั้งเป้าสร้างรายได้ 4 ล้านล้านใน 4 ปี

          จากเป้าหมายของรัฐบาลในการนำพาประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง หรืออย่างน้อยต้องเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรเป็น 2 เท่า แม้จะเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่นพ.สุรพงษ์ เชื่อว่าด้วยพลังของซอฟต์พาวเวอร์จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง โดยภายใน 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 รัฐบาลตั้งเป้าจะฝึกฝนอบรมทักษะของประชาชนไทยในด้านซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้ 20 ล้านคน แต่ละคนต้องสร้างรายได้อย่างน้อย 2 แสนบาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะทำให้รายได้ประชาชนไทยเพิ่มอีก 4 ล้านล้านบาท “ถ้าทำได้ โอกาสที่คนไทยทุกคนจะพ้นจากความยากจน ก็มีความเป็นไปได้” นพ.สุรพงษ์กล่าวทิ้งท้าย



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้