OTT TV กับการเข้าถึงรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

Last updated: 29 ก.ย. 2567  |  3799 จำนวนผู้เข้าชม  | 

OTT TV กับการเข้าถึงรายการโทรทัศน์ได้ทุกที่ทุกเวลา

  • OTT TV อนาคตแห่งการชมโทรทัศน์
    OTT TV คืออะไร?


OTT หรือ Over-the-top คือการให้บริการใดใดผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบเปิด โดยที่ผู้ให้บริการ OTT ไม่มีการลงทุนหรือเป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยตนเอง ซึ่งนำมารวมกับคำว่า TV หรือโทรทัศน์ จึงกลายเป็น OTT TV (Over-the-top TV) ในที่นี้จึงหมายถึง การให้บริการเนื้อหาสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วีดิโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผู้ให้บริการไม่ได้เป็นเจ้าของโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube, Line TV หรือ Netflix ที่ทุกคนเคยได้ยินหรือใช้บริการอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

OTT TV ได้เปรียบบริการสื่อวิดีโอและโทรทัศน์แบบอื่นๆ ทั้ง Free TV (ดิจิตอลทีวี) Pay TV (เช่น True Vision และ PSI) และแผ่น DVD/Blu-ray ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความยืดหยุ่นในด้านเวลาการให้บริการที่ผู้ชมสามารถเลือกเองได้ ความยืดหยุ่นด้านสถานที่ที่ผู้ชมสามารถเลือกชมที่ใดก็ได้ที่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ด้านความสะดวกที่ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์เสริมมาก รวมถึงด้านการลงทุนของผู้ให้บริการที่ต่ำเนื่องจากผู้ให้บริการไม่ได้ลงทุนโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเอง สะท้อนถึงอัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าผู้ให้บริการ TV ในรูปแบบอื่นๆ ข้อได้เปรียบแหล่านี้ทำให้หลายคนเริ่มคิดว่า OTT TV จะเข้ามาแทนที่การรับชมวิดีโอและโทรทัศน์แบบเดิมของเรา แต่ว่า OTT TV คืออะไร และ OTT TV จะเข้ามาเป็นอนาคตแห่งการชมโทรทัศน์ได้อย่างไร

จากการเปลี่ยนแปลง และปรับตัวของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาวะตลาดช่องรายการโทรทัศน์ที่มีแนวโน้มเติบโตลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยียุคดิจิตอล (Digital disruption) ทำให้เกิดสื่อหลากหลายรูปแบบและสามารถรับชมได้หลากหลายช่องทาง เวลา สถานที่ใดก็ได้ ส่งผลให้ความต้องการชมรายการโทรทัศน์แบบปกติน้อยลง 

เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปรับชมสื่อข่าวสารผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคดิจิตอลได้มากกว่า หรือเรียกได้ว่าเป็นรูปแบบสื่อ Over the top (OTT)
ห่วงโซ่มูลค่าของบริการ OTT TV

ผู้ให้บริการกลุ่ม Disruptors เป็นกลุ่มผู้ให้บริการ OTT ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินเป็นอย่างยิ่งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจากความสะดวกสบายในการรับฟังและรับชมได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านหลากหลายอุปกรณ์ ทั้งนี้ ห่วงโซ่คุณค่าของการให้บริการ OTT TV แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก โดยได้แก่

เนื้อหาสื่อ (Media Content)
เนื้อหาสื่อ (Media Content) นับเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในบริการประเภทสื่อวิดีโอและโทรทัศน์ โดยเนื้อหาสื่อที่น่าสนใจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการ OTT TV มากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ให้บริการด้านเนื้อหาสื่อที่อยู่ในการให้บริการ OTT TV ในปัจจุบัน ได้แก่ 1) ผู้ผลิตภาพยนตร์ 2) ผู้ผลิตซีรีย์ ละคร หรือรายการรายการบันเทิงวาไรตี้ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ 3) ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อด้านกีฬา หรือเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬา และ 4) ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อที่ผู้ใช้บริการในแพลตฟอร์มสร้างขึ้น (User Generated Content: UGC) คือการที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายผลิตเนื้อหาสื่อด้วยตัวเอง ซึ่งสื่อที่ผลิตออกมานั้นจะมีการกล่าวถึงแบรนด์นั้นๆ ที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มหมายนั้นมีความสนใจ โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างผู้บริโภคกลุ่มนี้เลย
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT TV (Service Platform)
ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม OTT TV ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำบริการสื่อหรือเนื้อหาจากเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ผลิตไปยังผู้ใช้บริการ โดยแพลตฟอร์ม OTT TV ส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ซึ่งให้บริการ OTT TV ในรูปแบบของการถ่ายทอดสดตามเวลาออกอากาศจริง (Live Content) หรือการดูสื่อเนื้อหาในเวลาใดก็ได้ตามความต้องการของผู้บริโภค (On-demand Content) ซึ่งยกตัวอย่างผู้ให้บริการแฟลตฟอร์ม OTT TV เช่น YouTube, Netflix, LINE TV, iflix, Hollywood HD เป็นต้น
ผู้ผลิตอุปกรณ์ที่รองรับการใช้บริการ OTT TV (Device)
ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย อุปกรณ์ที่รองรับการใช้บริการ OTT TV ซึ่งทำหน้าที่รับสัญญาณภาพและเสียงมาจากบริการแพลตฟอร์ม OTT TV มีหลากหลายประเภท ได้แก่ 1) อุปกรณ์พกพา เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ขนาดพกพา เป็นต้น 2) อุปกรณ์ประจำที่ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ททีวี เป็นต้น และ 3) อุปกรณ์เสริมเพื่อให้โทรทัศน์ธรรมดาสามารถรับบริการ OTT TV ได้ เช่น กล่องรับสัญญาณ OTT TV (Set-top Box) ของบริษัทต่างๆ ครอบคลุม Apple TV กล่องรับสัญญาณในระบบแอนดรอยด์ (Android Box) รวมถึงเครื่องเล่นเกมส์ที่สามารถสตรีมมิ่งได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึง USB Dongle Stick เช่น Google Chromecast เป็นต้น
ผู้ใช้บริการ OTT TV (End User)
ผู้ที่ใช้งานแพลตฟอร์ม OTT TV ทั้งในรูปแบบที่มีค่าบริการ และแบบไม่มีค่าบริการ
ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider)
ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการให้บริการ OTT TV คือ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยีใดก็ได้ ซึ่งทำหน้าที่ส่งเนื้อหารายการ (Content) ผ่านห่วงโซ่มูลค่าที่กล่าวมาข้างต้นไปถึงผู้ใช้บริการปลายทางได้


OTT TV จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในกิจการโทรทัศน์ได้อย่างไร?
จากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ETDA) พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552 – ปี 2562) ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากถึง 150% โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 47.5 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชากรไทย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลปริมาณเวลาที่ผู้บริโภคใช้ในการบริโภคสื่อ โดยในปี 2562 มีจำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ย 10 ชั่วโมง 22 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 มากขึ้น 17 นาที สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงการบริโภคสื่อไปในลักษณะของสื่อออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกิจกรรมออนไลน์อย่าง Social Media และรับชมสื่อ OTT TV ออนไลน์ 71.2%

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกระจายเสียงและโทรทัศน์ของประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากการเข้ามาเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการภาพและเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต(Over the Top: OTT) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นจากการพัฒนาและความครอบคลุมของโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งผลทำให้การเข้าถึงเนื้อหารายการเป็นไปได้โดยง่าย และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยหรือพึ่งพาการให้บริการการกระจายเสียงและโทรทัศน์ผ่านอุปกรณ์แบบดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มในการเติบโตของบริการ OTT ในประเทศ พบว่ารายได้ของผู้ให้บริการ OTT ในประเทศไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2564 คาดว่าจะมีมูลค่าตลาด 10,219 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเท่ากับ 12.8%


OTT TV จะมาแทนที่กิจการโทรทัศน์แบบเดิมในประเทศไทยหรือไม่?
จากที่กล่าวมาข้างต้น OTT TV สามารถตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้มาก ทั้งในรูปแบบของเวลา สถานที่ ข้อผูกมัดและราคาที่น้อยกว่าการชมวิดีโอและโทรทัศน์แบบทั่วไป แต่การที่ OTT TV จะเข้ามาแทนที่กิจการโทรทัศน์ที่มีอยู่เดิมในไทย ทั้ง Free TV และ Pay TV นั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก หรือยังไม่สามารถเป็นได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจาก OTT TV ในไทยยังอยู่ในระดับเริ่มต้นอาจยังไม่สามารถแทนที่กิจการโทรทัศน์แบบเดิมได้อย่างเต็มรูปแบบ ผู้ให้บริการยังมีไม่หลากหลาย เนื้อหาส่วนมากที่ให้เป็นซีรีย์ และภาพยนตร์จากต่างประเทศซึ่งไม่ได้เป็นที่นิยมในคนหมู่มาก อีกทั้งชมวิดีโอหรือโทรทัศน์ผ่าน OTT TV นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตที่ดีและครอบคลุมทั่วประเทศเสียก่อน นอกจากนี้ OTT TV ในประเทศไทยยังต้องต่อสู้กับเทปผีซีดีเถื่อนซึ่งเป็นอุปสรรค์ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกด้วย ฉะนั้นผู้เขียนจึงมีความเห็นว่า OTT TV ในประเทศไทยจำเป็นต้องรออีกสักระยะ ให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านอินเทอร์เน็ต ตลอดจนเรื่องการปราบปรามของเถื่อนในประเทศไทยดีขึ้นเสียก่อน จึงจะเริ่มแข่งขันกับบริการที่มีอยู่เดิมในไทยได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้