สมาคมฯเข้ายื่นหนังสือต่อกสทช.เพื่อให้ตรวจสอบและวินิจฉัยเร่งด่วนกรณีการจัดสรรสิทธิในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย)

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  548 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สมาคมฯเข้ายื่นหนังสือต่อกสทช.เพื่อให้ตรวจสอบและวินิจฉัยเร่งด่วนกรณีการจัดสรรสิทธิในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย)

(วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 เวลา 10.00 น.)
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) นำโดยนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการและที่ปรึกษา นายเดียว  วรตั้งตระกูล  เลขานุการสมาคม นางสาวนันทพันธ์ แสงไชย กรรมการ นายอังกูล บุญดี ผู้จัดการสมาคมฯ และตัวแทนสถานี เข้าร่วมยื่นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ช่วยวินิจฉัย กรณีมอบลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ว่าถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ โดยมี พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช. รับมอบหนังสือ

โดยมีใจความสำคัญดังนี้

ตามที่ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (แห่งชาติ) ผ่าน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้ให้เงินสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก (รอบสุดท้าย) จำนวน 600 ล้านบาทแก่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อนำไปเป็นเงินตั้งต้นในการดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) จากกรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีหลักการตามบันทึกข้อตกลง ที่ได้ระบุไว้ว่าให้จัดสรรการถ่ายทอดสดแก่ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงทั้ง 64 คู่ตลอดการแข่งขัน




ในการนี้ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) จึงเรียนมายังคณะกรรมการกสทช. เพื่อโปรดตรวจสอบ และวินิจฉัยว่าการจัดสรรในครั้งนี้มีความถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ ตามรายละเอียดดังนี้

1. การได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท จากกองทุนกทปส. ซึ่งเป็นเงินที่ได้ส่งมอบมาจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อเป็นเงินทุนในการสนับสนุน ส่งเสริม วิจัย และพัฒนาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นั่นหมายถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ร่วมสนับสนุนไปกับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน การจัดสรรแมทช์ในการถ่ายทอดสดให้แก่ช่องต่างๆ ควรเป็นไปตามมติในการให้เงินสนับสนุนของ กสทช.ทั้ง 64 แมทช์ (แบ่งสิทธิประโยชน์ตาม สัดส่วนของการสนับสนุนคือคิดเป็น 50 % ของงบประมาณการซื้อลิขสิทธิ์ 1,200 ล้านบาท) ไม่ใช่เพียง 32 แมทช์ และได้รับหลังจากที่ผู้สนับสนุนหลัก (กลุ่มทรู ซึ่งมีธุรกิจเป็นช่องทีวีดิจิตอลด้วย) ได้เลือกแมทช์สำคัญไปแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียมอย่างมาก ขอให้กสทช พิจารณาด้วยว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการที่ทำให้เกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์และไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบอนุญาตฯหรือไม่

2. กรณีกลุ่มทรูให้การสนับสนุนจำนวน 200 ล้านบาท สำหรับสิทธิในโทรทัศน์ดิจิตอลและ 100 ล้านบาท สำหรับสิทธิทาง OTT  แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ครอบคลุมสิทธิ์การถ่ายทอด ทุกช่องทาง ทุกแพลตฟอร์ม แบบ exclusive ได้สิทธิ์ในการเลือกคู่แข่งขัน จำนวน 32 แมทช์ และได้นาทีโฆษณา จากช่องทีวีดิจิตอลที่ร่วมถ่ายทอดจากกกท .

3. ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยได้มีการจัดสรรการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเรียบร้อยแล้วในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ตั้งแต่เวลา 10.00 -16.00 น. โดยให้สิทธิ์แก่กลุ่มทรูที่เป็นผู้สนับสนุนหลักได้เลือกแมทช์ต่างๆก่อน

 



โดยแบ่งส่วนที่เหลือจากการเลือก 32 แมทช์ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 21 ช่องที่ร่วมถ่ายทอด โดยทั้งนี้สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาชิกช่อง สถานี ได้ทักท้วงหลายครั้งต่อกกท. ในหลักการที่ไม่สอดคล้องกับมติ “ทั่วถึง เท่าเทียม” ของ  กสทช. แต่ทางกกท.ก็ยังยืนยันที่จะดำเนินการต่อไป ในการนี้ทางสมาคมฯจึงเรียนมายังคณะ กรรมการกสทช. เพื่อยืนยันว่าการที่สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลสมาชิก 13 ช่องที่เสนอรับสิทธิ์ ร่วมถ่ายทอด ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กกท. ซึ่งขัดต่อหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม” แต่ได้จำยอมร่วมจับฉลากไปในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 นั้น เหตุเพราะคำนึงถึงผลกระทบ ต่อผู้ชมฟุตบอลโลก ที่จะมีการถ่ายทอดสดคู่แรก ในวันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เวลา  23.00 น. ให้สามารถดำเนินไปได้ก่อน และได้แจ้งต่อที่ประชุมของ กกท. อย่างชัดเจนแล้ว  การจับฉลากครั้งนี้สมาคมฯไม่ถือเป็นการยอมรับในหลักการและวิธีการของ กกท.ขอสงวนสิทธิ์ในการทักท้วงไม่เห็นด้วยในการจัดสรรการถ่ายทอดของ กกท. โดยเรียน มายังคณะ กรรมการกสทช. เพื่อวินิจฉัยว่า การจัดสรรสิทธิการถ่ายทอดสดของกกท. เป็นไปโดยชอบ  และขัดกับหลักการ “ทั่วถึง เท่าเทียม”ของ กสทช. หรือไม่อย่างไร


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้