หนึ่งทศวรรษทีวีดิจิตอล : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต

Last updated: 4 ก.ย. 2567  |  533 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนึ่งทศวรรษทีวีดิจิตอล  : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต

หนึ่งทศวรรษทีวีดิจิตอล

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต  กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์

 

        "ปี 2567 นี้ เป็นปีครบรอบทศวรรษที่ 1 ของการเปลี่ยนผ่านของโทรทัศน์พื้นฐานจากระบบแอนะล็อกสู่ดิจิตอล
ทว่า ผู้ประกอบการทั้งโครงข่ายและช่องรายการโทรทัศน์ กลับอยู่ในภาวะที่ไม่สดใสนัก โดยเฉพาะกลุ่มหลังที่เข้าสู่การประกอบกิจการด้วยการประมูลใบอนุญาต"

          ย้อนไปเมื่อปี 2556 ตัวเลขรวมของเงินประมูลใบอนุญาตช่องรายการทีวีที่เข้ารัฐระบุไว้สูงถึงห้าหมื่นกว่าล้านบาท จึงมิอาจปฏิเสธได้เลยว่าการประมูลเป็นต้นเหตุที่ทำให้การประกอบการกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียงของไทย (broadcasting) มีมูลค่าสูงกว่าประเทศใด ๆ ในโลก เพราะในขณะที่นานาอารยประเทศมองว่า broadcasting เป็นบริการทางสังคม และเป็นกิจการที่มีอิทธิพลอย่างสูงในการหล่อหลอมพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตย จึงไม่ได้กำหนดให้มีการประมูลใบอนุญาต กฎหมายของประเทศไทย กลับกำหนดให้มีการประมูลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          แม้ต่อมา คสช.อนุมัติงบประมาณรวมสามหมื่นกว่าล้านบาท เพื่อเป็นมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิตอล ในการซึมซับค่าใช้จ่ายในการประมูลใบอนุญาต และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่ธุรกิจทีวีก็ยังคงมีต้นทุนสูง ทั้งค่าอุปกรณ์ เทคโนโลยี ค่าจ้างบุคลากรจำนวนหลายตำแหน่งงาน ตลอดจนค่าผลิตเนื้อหาที่ส่วนหนึ่งก็ต้อง outsource  และยิ่งไปกว่านั้น ในเวลาต่อมา แพลตฟอร์มแบบใหม่เริ่มวิวัฒนาการขึ้นมาเป็นตัวเลือกเพิ่ม คนดูทีวีดิจิตอลก็ยิ่งลดน้อยลงๆ  จึงไม่เกินเลยที่จะเปรียบเปรยว่า อุตสาหกรรมทีวีแบบดั้งเดิม หรือ legacy media ในยามนี้กำลังเข้าสู่อัสดง (sunset industry)

          ผู้รู้หลายคนวิเคราะห์ปัญหาทีวีดิจิตอลว่าเป็นปัญหาแบบการกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด ตั้งแต่การกำหนดโครงสร้างตลาดผ่านการออกแบบใบอนุญาตที่แยกย่อยประเภทช่องมากเกินไป  การกำหนดกระบวนการเข้าสู่ใบอนุญาตด้วยการประมูล ความล้มเหลวจากการดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอล อาทิ การแจกและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคูปองทีวีดิจิตอลที่ไม่ทั่วถึง กล่องทีวีดิจิตอลในท้องตลาดที่ศักยภาพต่ำ ตลอดจนความล่าช้าของ MUX ที่ทำให้การเข้าถึงยังคงต้องอาศัยโครงข่ายเดิมๆ ส่งผลให้แม้เวลาจะผ่านมาเป็นสิบปีแล้ว ประชาชนยังคงรับชมทีวีดิจิตอลโดยอาศัยโครงข่ายดาวเทียมมากกว่าร้อยละ 60  ช่องว่างสำคัญในจุดนี้คือ ผู้ประกอบการช่องรายการ แม้จะลงทุนไปอย่างมหาศาล แต่กลับไม่สามารถจัดการการเข้าถึงผู้ชมได้เอง เพราะต้องพึ่งพิงโครงข่ายที่เป็นเอกเทศจากตน ต่างจากสมัยแอนะล็อก ซึ่งแต่ละสถานีโทรทัศน์ต่างมีโครงข่ายเป็นของตน และผู้เล่นในตลาดก็มีจำนวนไม่กี่ราย การแข่งขันไม่สูง

          การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิตอล ทำให้มีจำนวนผู้ประกอบการทีวีพื้นฐานเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า ยังไม่รวมสื่อใหม่ๆที่มาแย่งงบโฆษณาด้วย อย่างสื่อออนไลน์ ทั้งที่เป็นตัวแพลตฟอร์มและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มอีกที เช่น YouTubers Influencers ต่างๆ ทำให้เค้กของงบโฆษณาก้อนเดิมต้องซอยแบ่งกระจัดกระจายไปหลายแพลตฟอร์มจนไม่เพียงพอ

          ยิ่งไปกว่านั้น หลังเปลี่ยนผ่านได้ไม่นาน ทีวีดิจิตอลได้พบเจอดิสรัปชั่นใหญ่จากเทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และการสื่อสารแบบไร้สายในยุค 5G จนทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งสามารถแพร่ภาพและกระจายเสียงอย่างไหลลื่น (หรือที่เรียกง่ายๆว่า OTT) รวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่าง ๆ ได้เข้ามาแทนที่ทีวีดิจิตอลในบริบทของการบริโภคสื่อมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเปิดรับแบบ ATAWAD (Any Time Any Where Any Device) ซึ่งมีความยืดหยุ่นกว่า จึงถูกจริตคนยุคดิจิทัลมากกว่า โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่และคนเมืองซึ่งเปิดรับสื่อผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่แบบพกพาและ smart devices จนเป็นวิถี

          ตัวเลขจากการสำรวจตลาดผู้บริโภคสื่อล่าสุดระบุว่า ผู้บริโภคไทยรับชมโทรทัศน์ผ่าน OTT เป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 54 แล้ว แพลตฟอร์มเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีที่มาจากผู้ประกอบการที่เป็นบรรษัทเทคโนโลยีใหญ่ระดับโลก ซึ่งมีต้นทุนในการประกอบการมหาศาลและศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ยากจะเทียบเคียง อีกส่วนแม้จะเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมในประเทศ แต่ก็มาจากทุนที่ใหญ่กว่าผู้ประกอบการด้านโทรทัศน์อย่างยิ่ง การแข่งขันจึงไม่ได้อยู่บนสนามที่เท่าเทียม (level-playing field) สำหรับผู้ประกอบการโทรทัศน์แบบดั้งเดิม

          อีกไม่นาน วงการสร้างสรรค์เนื้อหาแบบภาพและเสียงก็น่าจะได้พบเจอดิสรัปชั่นใหญ่อีกระลอกจาก AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถทำงานแทนนักวิชาชีพสื่อได้ในหลาย ๆ หน้าที่และทักษะ และเพื่อทดสอบว่า AI จะสามารถทำงานแทนได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงลองให้ Generative AI อย่าง Chat GPT ช่วยประมวลว่า ปัญหาและความท้าทายของทีวีดิจิตอลในประเทศไทยนั้นสรุปได้ว่าอย่างไรบ้าง

คำตอบของ Chat GPT:

ทีวีดิจิตอลในประเทศไทยมีปัญหาและความท้าทายหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาและการรับชม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

1. ปัญหาด้านการรับสัญญาณ บางพื้นที่ในประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการรับสัญญาณทีวีดิจิตอลที่ไม่เสถียร ทำให้ผู้ชมในบางพื้นที่ไม่สามารถรับชมได้อย่างเต็มที่หรือคุณภาพของภาพและเสียงลดลง - การติดตั้งเสารับสัญญาณหรืออุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมทำให้การรับสัญญาณยิ่งมีปัญหามากขึ้น

2. การรับรู้และการเข้าถึงข้อมูล ประชาชนบางส่วนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านจากทีวีแอนะล็อกไปสู่ทีวีดิจิตอล ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากบริการได้อย่างเต็มที่  การขาดข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งค่าหรือการปรับแต่งอุปกรณ์รับสัญญาณทำให้เกิดความสับสนและความยุ่งยากในการใช้งาน

3. การจัดสรรคลื่นความถี่และนโยบาย ปัญหาการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ไม่เหมาะสมหรือการขาดการบังคับใช้กฎหมายที่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งและความไม่ชัดเจนในอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล  นโยบายหรือกฎระเบียบที่ไม่ชัดเจนยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในด้านการลงทุนและการวางแผนธุรกิจ

4. ปัญหาทางการเงินของผู้ประกอบการ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะค่าเช่าช่องสัญญาณและค่าใช้จ่ายในการผลิตเนื้อหา ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้  การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดทำให้รายได้จากโฆษณาลดลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินของผู้ประกอบการ

5.  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ชม ผู้ชมมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และบริการสตรีมมิ่งมากขึ้น ทำให้การรับชมทีวีดิจิตอลลดลง และผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงนี้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้การพัฒนาและการขยายตัวของทีวีดิจิตอลในประเทศไทยเป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่คาดหวัง และจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้ชม

 

ปรากฏการณ์ทีวีดิจิตอลหลังหนึ่งทศวรรษ

          แม้การสรุปปัญหาทีวีดิจิตอลข้างต้นจะสะท้อนภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัจจัยหนึ่งที่ Generative AI อาจมองข้ามไปคือ สภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว โดยเฉพาะหลังภาวะโรคระบาดใหญ่ซึ่งทำให้การประกอบกิจการที่รายได้ลด กำไรหดหายอยู่เดิม ยิ่งลำบากขึ้นอีก จึงไม่น่าแปลกที่เราจะพบเห็นปรากฏการณ์ต่อไปนี้อยู่เนืองๆ ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ดิจิตอลและนิเวศสื่อที่แวดล้อมทีวีดิจิตอล

1. การพัฒนาเนื้อหาที่มีข้อจำกัด ทั้งในเชิงปริมาณ และ คุณภาพ

สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้เนื้อหาโดยเฉพาะประเภทบันเทิงซึ่งเคยเป็นสินค้าหลักของช่องโทรทัศน์ ขายโฆษณาได้น้อยลงและถูกแพลตฟอร์มอื่นๆ แย่งเรตติงคนดูไป ส่งผลให้ละครใหม่ๆ มีการผลิตน้อยลง และการรีรันละครกลายเป็นเทรนด์หลัก ผู้จัดละครบางคนถูกยกเลิกงานเนื่องจากผู้ประกอบการช่องรายการแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ส่วนผู้สร้างสรรค์เนื้อหาที่หวังจะอยู่รอด ก็ต้องพยายามขยายฐานไปสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งก็ต้องแลกมากับการลงแรงพัฒนาเนื้อหาให้ดีขึ้นในระดับที่เทียบเคียงกับคู่แข่งในตลาดโลก ภายใต้ต้นทุนอันจำกัดและไม่ได้ขยายตามไปด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การทำเนื้อหาสตรีมมิ่ง ที่ตอบโจทย์ทั้งรสนิยมของผู้ชมในตลาดไทย และสร้างความดึงดูดใจให้ผู้ชมในตลาดต่างแดนในคราวเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย  สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถป้อนเนื้อหาให้สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มได้ ก็ยังติดอยู่ในวังวนของเนื้อหาแบบเดิม การอบรมเสริมศักยภาพให้บุคลากรสามารถพัฒนาตัวบทเพื่อนำไปสู่เนื้อหาที่เป็นแนวทางสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่เป็นไปได้ยาก ตราบที่ช่องรายการยังคงติดอยู่ในกับดักรายได้และเรตติง

2. การสูญเสียความน่าเชื่อถือในฐานะเสาหลักด้านข่าวสารของสังคม 

แม้โทรทัศน์จะเคยเป็นช่องทางด้านข่าวสารที่ทรงอิทธิพลที่สุดในสังคม แต่การย้ายฐานการเปิดรับข้อมูลของผู้ใช้สื่อโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊ก หรือยูทูบ และผ่านเสิร์ช เอ็นจิน อย่างกูเกิล ส่งผลให้บทบาททางสังคมของโทรทัศน์ค่อย ๆ เสื่อมถอยลงไป ประกอบกับการแข่งขันกันชิงเรตติงของรายการข่าวซึ่งเป็นเนื้อหาที่สร้างความสนใจและเชื่อมโยงกับสังคมให้คนดูได้ง่ายที่สุด ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ขยี้ข่าว” แพร่หลายในช่องทีวีดิจิตอลหลายช่อง

การขยี้ข่าวอาศัยสารตั้งต้นที่เป็นเหตุการณ์จากข่าวอาชญากรรม หรือข่าวชาวบ้านแนวปุถุชนสนใจ แต่ผู้ดำเนินรายการและผู้ผลิตจะขยายผลด้วยการแต่งสีขยี้ความ เล่าเรื่องราวให้เป็นดราม่าโดยเฉพาะประเด็นความรุนแรง เรื่องเพศ การใช้ภาษา เรื่องอื้อฉาวเร้าอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นรูปแบบรายการเล่าข่าว และรายการสนทนาสดที่มีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ที่เป็นข่าวมาเผชิญหน้ากัน บ่อยครั้งที่รายการประเภทนี้อาจมองข้ามหลักจริยธรรมสื่อสารมวลชน หลักสิทธิมนุษยชน หรือความถูกต้องเหมาะสมตามบริบทสังคมวัฒนธรรม จึงน่าจะส่งผลต่อความศรัทธาหรือความเชื่อมั่นเชื่อใจ (trust) ในรายการข่าวโทรทัศน์ไม่มากก็น้อย ยิ่งผู้ประกอบการช่องรายการยอมรับการขยี้ข่าวเป็นรูปแบบบรรทัดฐานมากขึ้นเรื่อยๆ ก็น่าจะยิ่งเป็นการฉุดรั้งมาตรฐานของวารสารศาสตร์ในโทรทัศน์ไทยให้ลดลงไปเรื่อยๆ เช่นกัน การทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่ส่งผลต่อมติมหาชนในระบอบประชาธิปไตยของโทรทัศน์ไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

3. การตกเป็นเชลยของผู้คุมโครงสร้างพื้นฐานแพลตฟอร์มดิจิทัล

          วลีที่เคยพูดกันติดปากที่ว่า “Content is king.” ซึ่งบิล เกตส์แห่งไมโครซอฟท์เป็นผู้พูดคนแรกใน ค.ศ. 1996 เพื่อเน้นว่าการทำเนื้อหาเป็นหัวใจสำคัญของการทำสื่อทุกประเภท อาจจะไม่จริงอีกต่อไปแล้วในต้นศตวรรษที่ 21 ที่แพลตฟอร์มดิจิทัลได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของระลอกใหม่ของการปฏิวัติดิจิทัล

          ณ จุด นี้ “Platform is king.” เพราะไม่ว่าเนื้อหาจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีแพลตฟอร์มที่ทรงอานุภาพ (ด้วย Big data โดยเฉพาะเกี่ยวกับโปรไฟล์และพฤติกรรมผู้ใช้สื่อ อัลกอริทึม และกระบวนการที่จะเชื่อมโยงกับระบบนิเวศด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ) เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงเนื้อหาและบริการกับผู้ใช้ ก็จะไม่เกิดผลอะไรเลย ช่องรายการทีวีดิจิตอลในปัจจุบันจึงต้องพึ่งพิงแพลตฟอร์มดิจิทัลในฐานะโครงสร้างพื้นฐานแบบ by default เพื่อเพิ่ม eyeballs และเพิ่มโอกาสรับค่าโฆษณา การไป “ฝากร้าน” ไว้ในบ้านเขา ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง และต้องยอมทำตามกฎของแพลตฟอร์ม ทั้ง ๆ ที่จำนวนคนดูตามที่กล่าวอ้าง (claimed viewership) และ รูปแบบการทำรายได้ (business model) ตรวจสอบได้ยาก การแบ่งส่วนแบ่งรายได้ก็ไม่เป็นธรรม จึงเปรียบเสมือนว่าเป็นเชลยหรือถูกยึดกุมอำนาจในการจัดการผลประโยชน์จากเนื้อหาของตนไปโดยปริยาย

4. กสทช.ในฐานะจำเลย (รัก) ของผู้ประกอบการ

          การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลนับเป็นเมกะโปรเจคท์ของ กสทช. และความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดสิบปีที่ผ่านมาก็ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของ กสทช. แม้ว่า “การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง” และดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นคือประสบการณ์ที่เป็นสากลในทุกประเทศทั่วโลก  ขณะเดียวกัน กสทช. ก็ยังอยู่ในภาวะที่อยู่ระหว่างเขาควายเพราะกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ล้าสมัยไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องเทคโนโลยีที่ยังอยู่ในกรอบคิดแบบแอนะล็อก และการกำกับดูแลที่เป็นแนวดิ่ง คือแยกส่วนตามประเภทการประกอบกิจการไม่หลอมรวม ทำให้ไม่ทันต่อการกำกับดูแลการแข่งขันและสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการในภาคส่วนต่าง ๆ

          ขณะที่อุตสาหกรรมเนื้อหาและธุรกิจของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ครอบงำสังคมต้องการการทำงานแบบบูรณาการ องค์กรภาครัฐที่กำกับดูแลและส่งเสริมก็ต่างทำงานในไซโลของตน ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็แยกหลายฉบับจนเกิดความติดขัดเป็นพื้นฐาน

          ในอีกประมาณ 5 ปีที่ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลจะสิ้นสุดลง ความอยู่รอดของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลคือคำถามที่ท้าทาย กสทช. อยู่เสมอ ซึ่งคงยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ที่สุดให้ในที่นี้ แต่สามารถรายงานตามข้อเท็จจริงได้ว่า สำนักงาน กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลการศึกษาฉากทัศน์ของกิจการแพร่ภาพและกระจายเสียง ตลอดจนได้มีการทำงานร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาแนวทางและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการวาง Roadmap สู่ช่วงหลังใบอนุญาตทีวีดิจิตอลสิ้นสุด ซึ่งความพยายามในรูปแบบต่างๆ ของสำนักงาน กสทช.เสนอให้เห็นได้โดยสังเขปในส่วนต่อไป


กสทช. ทำอะไรบ้างเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ทีวีดิจิตอล

ในช่วงสองปีกับอีกสามเดือนเศษที่ผ่านมา กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ร่วมกับสำนักที่เกี่ยวข้องในสำนักงาน กสทช. ได้ร่วมกันดำเนินนโยบายและวางแผนปฏิบัติการอันเกี่ยวข้องกับทีวีดิจิตอลดังต่อไปนี้

1. การร่างและผลักดันประกาศ กสทช.หลายฉบับ 

เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการและนักวิชาชีพสื่อที่ทำงานอยู่ในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ การส่งเสริมกิจการ broadcasting ท้องถิ่น การส่งเสริมองค์กรวิชาชีพ การกำกับดูแลแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง OTT (แบบ light touch) มีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้


ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ร่างสนับสนุนรายการ)
- ผู้ผลิตสื่ออิสระ ผู้รับใบอนุญาต และผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมได้รับการส่งเสริมการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- มีเนื้อหาที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ หลากหลายและมีศักยภาพในการแข่งขัน ตอบสนองต่อประชาชนทุกกลุ่ม และประโยชน์สาธารณะในมิติต่าง ๆ
- เป็นการผลักดัน local content –Thai content ในแง่ของ soft power เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมสามารถแข่งขันในด้านเนื้อหาเป็นประโยชน์ต่อทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ
- ผู้ผลิตสื่ออิสระและบุคคลทั่วไป
- ผู้รับใบอนุญาตด้านวิทยุและโทรทัศน์
- ผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
- สถาบันการศึกษา/องค์กรเอกชน


ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ (ร่างส่งเสริมบริการชุมชน)
- ชุมชนที่มีความพร้อมได้รับการส่งเสริมในด้านต่างๆ เช่น พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่จำเป็นเพื่อให้มีคุณสมบัติในการเป็นผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ประเภทบริการชุมชน
- ได้ใช้คลื่นความถี่ตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย
- ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ประเภทบริการชุมชนได้รับการสนับสนุนการดำเนินการของสถานีเพื่อให้มีคุณภาพในการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ในระดับชุมชนท้องถิ่น
- ชุมชนที่มีความพร้อมในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ซึ่งยังไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาต)
- ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ชุมชน


ร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.....(ร่างรวมกลุ่ม)
- การรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ได้รับการสนับสนุนทุนเพื่อไปบริหารจัดการการดำเนินงานขององค์กรให้มีกลไกการกำกับดูแลกันเองให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องมากขึ้น

- ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เพิ่งรวมกลุ่มได้จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมและมีการควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองโดยมีทุนสนับสนุนในการดำเนินการ
- ผู้รับใบอนุญาต
- ผู้ผลิตรายการ
- ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน


ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- ผู้ให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เข้าสู่ระบบการกำกับดูแลแบบ light touch โดยอุตสาหกรรมได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและประชาชนได้รับการคุ้มครองบริการที่เกี่ยวข้อง
- ผู้ให้บริการ Video On- Demand Services (VOD)
- ผู้ให้บริการ Video Sharing Platform Services (VSP)

 

1. การจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 

ศึกษาแนวทางการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลในระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นการผนวกรวมเนื้อหาของช่องทีวีดิจิตอล ระบบการลงโฆษณา ระบบการเก็บข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวัดเรตติง เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปพัฒนาและโปรโมตเนื้อหา หรือวางแผนการลงโฆษณาอีกทีหนึ่ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2563 – 2568) (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566 ที่กล่าวถึงการพัฒนากิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยให้เข้าสู่มาตรฐานสากล มีพลวัตสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญภายใต้วัตถุประสงค์ที่ 4 ของยุทธศาสตร์ที่ 2 (ยกระดับมาตรฐานกิจการโทรทัศน์ให้เทียบเคียงระดับสากล) ดังนี้

1) มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล (สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนในอุตสาหกรรมเพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาช่องทาง (Portal) การเข้าถึงฯ)

2) มีมาตรการในการกำหนดให้อุปกรณ์ Connected TV หรืออุปกรณ์อื่นในประเทศไทยมีการติดตั้งช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล

ในปี พ.ศ.2566 ได้มีการจัดประชุมหารือและระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวช้องกับการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 3 กลุ่ม ได้แก่

ครั้งที่ 1 ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย
ครั้งที่ 2 ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
ครั้งที่ 3 ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์

จากการประชุมทั้ง 3 ครั้ง ข้างต้น ทำให้มีข้อมูลและข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นโครงการที่มีความสำคัญและมีประเด็นต้องคำนึงในหลายมิติ ดังนั้นเพื่อการดำเนินการเป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ จึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้และเหมาะสมในการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยมีหน้าที่ในการศึกษาดังนี้

1) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับแพลตฟอร์มที่เผยแพร่เนื้อหาภาพและเสียงภายในประเทศ ผู้ประกอบการ ห่วงโซ่อุปทาน พฤติกรรมผู้รับชม และมูลค่าตลาด

2) ศึกษาลักษณะ รูปแบบ และทางเลือกของช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งประมาณการต้นทุนของแต่ละทางเลือก

3) ศึกษารูปแบบการดำเนินการ  ความเป็นไปได้  ความคุ้มค่า และข้อกฎหมายของการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งประมาณการจำนวนผู้ใช้งาน

4) ศึกษาความเป็นไปได้ในการมีส่วนร่วมหรือการเพิ่มการเข้าถึงไปยังโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่นความถี่

5) ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและทางสังคม ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะเกิดขึ้นจากการมีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีต่อการกำกับดูแล ผู้ประกอบกิจการ และประชาชนผู้รับชม

          การศึกษาอย่างเป็นทางการของคณะทำงานฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 โดยจากผลการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 กลุ่ม และผลการศึกษาของคณะทำงานฯ ในเบื้องต้น จะนำไปสู่แนวทางที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งอาจต้องพิจารณาควบคู่กับการปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือประกาศ กสทช. ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นใหม่ อาทิ การปรับปรุงประกาศ Must Carry (กรณี IPTV) และกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล OTT/IPTV พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขในการนำรายการโทรทัศน์ของผู้ให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลไปออกอากาศ เพื่อตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมและแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

2. การพัฒนาระบบ social credit ในกิจการโทรทัศน์

          จากวาทกรรมที่ว่า “เนื้อหาดี ไม่มีใครดู” ทาง กสทช. จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบ Social Credit เพื่อเป็นระบบคู่ขนานกับระบบเรตติงดั้งเดิม ในการประเมินคุณภาพเนื้อหารายการ ให้รายการเนื้อหาคุณภาพได้มีโอกาสต่อรองและได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ นักวิชาการ และประชาชนผู้ชมรายการ ได้มีโอกาสเข้าไปประเมินเนื้อหาได้อย่างเท่าเทียม

          ในเฟสแรกของการออกแบบระบบ Social Credit กสทช. ได้ร่วมมือกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ กสทช. ปีละ 500 ล้านบาท และมีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรง จัดตั้งคณะทำงานขึ้น และเชิญคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาเข้าร่วมด้วย ซึ่งคณะทำงานนี้ ได้ไปสำรวจและศึกษารายการทีวีประเภทต่างๆ ได้แก่ รายการข่าวสาร รายการเด็ก รายการบันเทิง รายการละคร และรายการสารคดี เพื่อออกแบบหลักเกณฑ์ในการประเมินตามลักษณะเฉพาะของรายการโทรทัศน์แต่ละประเภท เช่น รายการเด็ก จะมีเกณฑ์เรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการ ในขณะที่รายการละครก็จะมีเกณฑ์เรื่องการสอดแทรกประเด็นที่สังคมให้คุณค่า เป็นต้น ซึ่งในการประเมินนี้ จะแบ่งออกเป็นสองระดับ คือเกณฑ์ที่อยู่ในระดับบรรทัดฐาน (ทุกรายการต้องมี เช่น การไม่สร้างอคติ ไม่นำเสนอภาพความรุนแรง ฯลฯ) กับระดับสูงกว่าบรรทัดฐาน (ส่วนที่เป็นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนสังคม ฯลฯ)

          สำหรับหลักเกณฑ์ในการประเมินนี้ ได้จัดทำขึ้นมาเป็นที่เรียบร้อย และผ่านการทดสอบจากกลุ่มผู้ประกอบการแล้ว ณ ขณะนี้ จึงอยู่ระหว่างจัดทำแบบสอบถาม เพื่อนำไปทดสอบให้กลุ่มประชาชนผู้ชมรายการต่อ อย่างไรก็ตาม ด้วยรายการโทรทัศน์ในปัจจุบันมีจำนวนมากเกินกว่าที่จะสามารถให้ประชาชนทุกคนมาช่วยกันประเมินทุกรายการทุกวันทุกเวลาได้ เฟสต่อไป จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบการประเมินอัตโนมัติโดยนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็จะต้องเร่งดำเนินการหารือร่วมกับนักวิชาการด้านต่างๆ ทั้ง AI และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ควบคู่กับการหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ช่องรายการจะได้รับจากคะแนน Social Credit อาทิ การหารายได้ค่าโฆษณา การลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาต การลดหย่อนภาษี เป็นต้น

 






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้