Last updated: 13 ต.ค. 2567 | 866 จำนวนผู้เข้าชม |
โรดแมปสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านกิจการสื่อสู่ระบบนิเวศเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วาทกรรมที่ว่า “สื่อโทรทัศน์ตายแล้ว” คงไม่ใช่มุมมองที่ถูกต้องนัก หลังจากกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลผ่านความยากลำบากในช่วง 10 ปีแรกมาได้ และช่วงที่เหลืออีก 5 ปี กว่าจะถึงปี 2572 ที่จะเกิดการประมูลใหม่อีกครั้ง จะมีผู้ไปต่ออีกกี่ราย ยังต้องลุ้นกันต่อไป แต่ภายใต้บริบทของสถานการณ์ปัจจุบันการฟื้นตัวของกิจการโทรทัศน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าสื่อโทรทัศน์กำลัง Transform ตัวเองอีกครั้ง โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศของเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อและดิจิทัล ให้เหตุผลเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนว่าโทรทัศน์ไทยยังไปต่อได้ จากตัวเลขผลประกอบการของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เป็นบริษัทมหาชนยังเห็นตัวเลขรายได้ที่มีแนวโน้มเติบโต ใน 5 ปีข้างหน้าก่อนถึงปี 2572 จะเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ สำหรับองค์กรกำกับดูแลอย่าง “กสทช.” ที่จะต้องวางโรดแมปสู่การให้ใบอนุญาตครั้งที่สอง ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบใดนั้นคงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ผู้รับใบอนุญาตมีบทเรียนเกี่ยวกับการลงทุน การกำหนดสัดส่วนรายได้ระหว่างสื่อดั้งเดิมและสื่อใหม่ ที่ทุกคนเริ่มมองเห็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น “เชื่อว่าทุกองค์กรมีโจทย์อยู่แล้วว่าจะไปต่ออย่างไร จะต่อใบอนุญาตหรือไม่ รวมถึงการก้าวเข้าสู่ระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
เตรียมตั้งรับกับ “Airtime Economy”
“สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือ Airtime Economy หรือเศรษฐศาสตร์ของเวลาและการออกอากาศ” ดร.สิขเรศ ฉายภาพถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่รวมถึงทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง “Airtime Economy” มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ ลิขสิทธิ์ การบริหารจัดการ การกำกับดูแล กลไกตลาด และการลงทุน
ลิขสิทธิ์ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการกีฬา พิสูจน์แล้วว่าสามารถสร้างรายได้ การจับมือระหว่างแกรมมี่และอาร์เอส เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสำคัญของลิขสิทธิ์ และเวิร์คพอยท์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของโมเดลการขายลิขสิทธิ์รายการในต่างประเทศ
การบริหารจัดการ การบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ให้สอดรับกับช่องทางในการหารายได้ และการขยายธุรกิจไปสู่ช่องทางใหม่ ๆ
การกำกับดูแล ในช่วง 5 ปีที่เหลือ กสทช. ต้องวางโรดแมปการให้ใบอนุญาตรอบที่สอง ซึ่งควรต้องมีหลายทางเลือก จากบทเรียนที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญ กสทช. ต้องทำความเข้าใจอุตสาหกรรมสื่อที่เปลี่ยนไป และสนับสนุนอย่างถูกต้อง เช่น การสนับสนุนด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น ลงทุนวิจัยและพัฒนาเนื้อหา เพื่อปูทางไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์
กลไกตลาด ความสะดวกของผู้ชม ผู้ฟัง การเข้าถึงแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย แบบมัลติแพลตฟอร์ม ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการโทรทัศน์ ที่จะต้องมีการวางกลยุทธ์ เพื่อขยายช่องทางธุรกิจในอนาคต
รายได้ สำหรับกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย รายได้โฆษณายังเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีรายได้เสริมจากช่องทางอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ และกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องบริหารจัดการให้ไปต่อได้ในช่วง 5 ปีข้างหน้า
“เราผ่านวิกฤตมาแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วง 5 ปีที่เหลืออาจจะกู้สถานการณ์ได้ระดับหนึ่ง หรือประมาณ 30% ก็ถือว่าโอเคแล้ว ต้องรอดูต่อไปว่าเมื่อถึงปี 2572 จะเป็นอย่างไรต่อไป” ดร.สิขเรศ กล่าว
ซอฟต์พาวเวอร์ โอกาสของอุตสาหกรรมโทรทัศน์
สำหรับความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในบริบททางวิชาการ หมายถึงการสื่อสารอย่างมีศิลปะ เพื่อการชักจูงและโน้มน้าวใจเพื่อให้เกิดการยอมรับ การสื่อสารผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นมวยไทย รำไทย พระราชวัง วัด เท่ากับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ได้ช่วยประเทศในการใช้การสื่อสาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ผ่านสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่
สำหรับแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาสื่อและกิจการโทรทัศน์ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดร.สิขเรศ
ได้สรุปแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาสื่อและกิจการโทรทัศน์ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ออกได้เป็นรูปแบบการดำเนินการ (Models) จากการศึกษากิจการในประเทศต่าง ๆ และนำมาใช้ปรับประยุกต์เป็นต้นแบบได้ 10 แนวทาง ดังนี้
1) การออกแบบและสร้างระบบกิจการสื่อ/ กิจการโทรทัศน์เป็นส่วนหนึ่งของกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ: กรณีศึกษานโยบายแห่งรัฐ เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร
2) การปรับแก้กฎหมาย ระเบียบการ ปรับโครงสร้างองค์กรกำกับดูแลสื่อภาครัฐให้มีความคล่องตัวทันสมัย เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและปรับตัวสู่ระบบนิเวศธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสมัยใหม่ โดยที่รัฐและทางการกำหนดวิสัยทัศน์ และมาตรการส่งเสริมสนับสนุนเอื้ออำนวยการประกอบกิจการให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อการพัฒนาสื่อ/กิจการกระจายเสียง-กิจการโทรทัศน์: กรณีศึกษา สวิตเซอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส
3) การกำหนดมาตรการให้มีหรือจัดสรรเวลา และแพลตฟอร์มสำหรับ “เนื้อหารายการท้องถิ่น/ภูมิภาค รายการส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม คอนเทนต์สร้างสรรค์ร่วมสมัย” ในอัตราและสัดส่วนตามกฎหมาย-ประกาศที่รัฐและองค์กรกำกับดูแลกำหนดไว้: กรณีศึกษา ฝรั่งเศส อิตาลี และหลายประเทศในสหภาพยุโรป
4) การประยุกต์ปรับกระบวนทัศน์ กฎการกำกับดูแลกิจการแต่เดิมเปลี่ยนสู่แนวทางและมาตรการเอื้ออำนวยประโยชน์สำหรับพัฒนาการสู่ระบบนิเวศสื่อใหม่ อาทิ การสนับสนุนเอื้ออำนวยต่อรายการ-การออกอากาศ-กิจการสื่อท้องถิ่นและภูมิภาค: กรณีศึกษา ฝรั่งเศส และบางประเทศในสหภาพยุโรป
5) การกำหนดมาตรการการสนับสนุนการโฆษณา ธุรกิจ สินค้าบริการ และวิสาหกิจชุมชนที่มีส่วนร่วมส่งเสริมงานด้านการผลิตรายการสื่อสร้างสรรค์: กรณีศึกษา เยอรมนี
6) การให้การสนับสนุนเป็นโครงการเฉพาะสำหรับกิจการแพร่ภาพสำหรับท้องถิ่นและภูมิภาค กลุ่มชาติพันธุ์/ชนพื้นเมือง กลุ่มภาษา กลุ่มความหลากหลายทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษา อิตาลี สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
7) การสนับสนุน “รายการโทรทัศน์/โปรดักชั่น ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่นและสื่อภูมิภาค” ผ่านมาตรการจูงใจ อาทิ การลดหย่อน/ยกเว้นภาษีเงินอุดหนุน: กรณีศึกษา สหรัฐอเมริกา (อยู่ระหว่างความพยายามในการนำเสนอกฎหมายสู่สภา)
8) การจัดตั้งกองทุน (รัฐ-เอกชน) และการจัดสรรทุนเพื่อการพัฒนารายการ/คอนเทนต์ “กิจการสื่อส่วนกลาง สื่อท้องถิ่น สื่อภูมิภาคและบุคลากร” และ “ผู้ผลิตงานสื่อสร้างสรรค์”: กรณีศึกษา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หลายประเทศในสหภาพยุโรป และนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับนานาชาติ
9) การสนับสนุนโครงการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพสื่อในกิจการสื่อ ผ่านหลักสูตรการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โครงการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับมาตารฐานวิชาชีพพร้อมสู่การสร้างสรรค์ผลงานในระบบนิเวศสื่อร่วมสมัย (ทุนสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ): กรณีศึกษา องค์กรสื่อระหว่างประเทศ สถาบันการศึกษาชั้นนำระดับนานาชาติ
10) การเอื้ออำนวยโครงสร้างขั้นพื้นฐานในระบบนิเวศอุตสาหกรรมสื่อใหม่ โดยรัฐและ/หรือภาคเอกชน สร้าง-สนับสนุน-เปิดโอกาสแพลตฟอร์มสื่อใหม่ จัดบริการช่องทางการสื่อสารสำหรับกิจการ บูรณาการกับผู้ประกอบการโทรทัศน์ โดยมีเป้าหมายเป็นช่องทางการขยายโอกาสการเผยแพร่คอนเทนต์ไทยส่งออกสู่ระดับนานาชาติ: กรณีศึกษา เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร
สหรัฐอเมริกา
การปรับเปลี่ยนฉากทัศน์อุตสาหกรรมสื่อในช่วงปลายทศวรรษ 2010s - ต้นทศวรรษ 2020s โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบกิจการช่องและสถานีโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา (ฟรีทีวี โทรทัศน์ภาคพื้นดิน โทรทัศน์ดาวเทียม กิจการเคเบิล และกิจการโทรทัศน์เนตเวิร์คทั่วสหรัฐฯ) ได้ปรับกระบวนทัศน์การประกอบกิจการมุ่งขับเคลื่อนธุรกิจเข้าสู่ระบบนิเวศอุตสาหกรรมสื่อใหม่เพื่อ i) ฝ่าวิกฤตดิสรัปชั่นทางเทคโนโลยีดิจิทัล ii) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับแพลตฟอร์มสื่อใหม่ ตลอดจน iii) ปรับรูปแบบการประกอบการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การขาดทุน และด้านรายได้ที่ลดลง และ iv) รองรับกับพฤติกรรมผู้บริโภควิถีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยที่กิจการสถานี/ ช่อง/ ผู้ให้บริการทีวีในสหรัฐอเมริกาหลายกลุ่มบริษัท ได้นำนวัตกรรมธุรกิจ FAST (Free-Ad Supported Streaming TV) มาใช้ เพื่อการปรับเข้าสู่ระบบ “การให้บริการฟรีทีวีผ่านระบบสตรีมมิ่งที่มีการสนับสนุนรายได้จากโฆษณา” เป็นการปรับเปลี่ยนที่มีเป้าหมายทางธุรกิจสำคัญ 4 ประการ ได้แก่
1) เพื่อขยายช่องทางการออกอากาศเผยแพร่รายการหลากหลายช่องทางคู่ขนานและข้ามแพลตฟอร์ม (Multicasting – Simulcasting – Cross Platform) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงประชาชนผู้รับชมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม
2) เพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้จากโฆษณา และการขยายโอกาสทางธุรกรรมและพาณิชยกรรม (Revenues)
3) เพื่อเพิ่มการให้บริการเสริมพิเศษ อาทิ รายการพิเศษ เนื้อหาคอนเทนต์พิเศษ และ การบริการธุรกิจอื่นๆ (Extra Content and Services)
4) เพื่อเสริมสมรรถนะทางด้านเทคโนโลยี ตลอดจนการเชื่อมโยงและบูรณาการแพลตฟอร์ม เพื่อวางระบบและแนวทางในการเตรียมพร้อมรองรับพัฒนาการของนวัตกรรมโทรทัศน์ วิดีทัศน์ วิศวกรรมการสื่อสารภาพและเสียงในอนาคต (Technological Advancement: Integrated and Convergent Media Platforms)
เกาหลีใต้
นโยบายรัฐบาลและวาระแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์
คอนเทนต์ทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล (K-Content)
กลยุทธ์และแนวทางการสนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัล:
กิจการสื่อโทรทัศน์ โอทีที-วิดีโอสตรีมมิ่ง เกาหลีใต้ (ค.ศ. 2023-2027)
รัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ได้ประกาศนโยบายและวาระแห่งชาติผ่านกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (MCST: Ministry of Culture, Sports and Tourism เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2022) ภายใต้แผน “Master Blueprint for Transforming the Blue House into a Cultural and Artistic Landmark and Leading the Korean Economy with K-Content” นับเป็นโรดแมปของภาครัฐเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ คอนเทนต์ทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล (K-Content) [ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ระบุถึงกลยุทธ์และแนวทางการสนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัล: กิจการโอทีที-วิดีโอสตรีมมิ่ง เกาหลีใต้ ไว้ด้วย] โดยที่แผนงานมีกรอบระยะเวลา 5 ปี ระหว่าง ค.ศ. 2023-2027 มีวงเงินงบประมาณราว 4.8 ล้านล้านวอน เพื่อการดำเนินการใน 5 ด้านสำคัญ ได้แก่
1) การปรับภูมิทัศน์และพัฒนาอาคารสถานที่/ทำเนียบประธานาธิบดีให้เอื้อต่อสุนทรียะทางศิลปะวัฒนธรรม
2) ส่งเสริมสนับสนุนคอนเทนต์เกาหลีใต้ (K-Content) เพื่อนำพาความเฟื่องฟูในระบบเศรษฐกิจ
3) สร้างเสริมระบบนิเวศแห่งความคิดสร้างสรรค์เพื่อเสริมพลังแห่งเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและนวัตกรรมด้านการสื่อสาร
4) สร้างหลักประกันในการเข้าถึงโดยทั่วถึงและเป็นธรรมในด้านวัฒนธรรม
5) ส่งเสริมศิลปวัฒธรรมแห่งภูมิภาคต่างๆ ของเกาหลีใต้อย่างสมดุล
เมื่อพิจารณาในภาคส่วนที่น่าสนใจและสามารถประยุกต์ใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อการส่งเสริมนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ คอนเทนต์ทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล กลยุทธ์และแนวทางการสนับสนุนแพลตฟอร์มดิจิทัล: กิจการโอทีที-วิดีโอสตรีมมิ่ง ได้แก่ แนวนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ในนโยบายที่ 2 (“Korean Economic Boom, Led by K-Content”) และ นโยบายที่ 3 (“Reshaping the Creative Environment that Supports the Value of Freedom and Creativity”) โดยสามารถสรุปสาระสำคัญจากทั้งสองนโยบายดังกล่าว ได้ออกเป็น 9 แนวทาง ดังนี้
1) นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการในการผลิต สร้างสรรค์ เผยแพร่ ผลงานสื่อสร้างสรรค์และคอนเทนต์ ซึ่งประกอบด้วย ภาพยนตร์ โอทีที-สื่อสตรีมมิ่ง เค-ป๊อป (K-Pop) เป็นธงนำ
1.1) รัฐบาลพิจารณาออกมาตรการจูงใจด้านประโยชน์ทางภาษี อาทิ การลด/ยกเว้นภาษีเรียกเก็บจากการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ และ ผลงานด้านการผลิตสื่อ-คอนเทนต์วิดีทัศน์ เป็นต้น
1.2) รัฐบาลพิจารณาการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนงานด้านการสื่อสาร โฆษณาประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมทางการตลาดเพื่อส่งเสริมผลงานภาพยนตร์เกาหลีใต้
1.3) รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อการสนับสนุนกิจการโอทีที-วิดีโอสตรีมมิ่ง มูลค่า 40,000 ล้านวอน โดยมุ่งส่งเสริมภาคการผลิตและกิจการสตูดิโอ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายสำคัญในการเผยแพร่ผลงานสื่อสร้างสรรค์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ละครและซีรีส์ของเกาหลีใต้” สู่ตลาดโลก
1.4) รัฐบาลส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเสริมการแสดงในโลกดิจิทัล อาทิ Immersive Music Performances และการสนับสนุนการเฟ้นหา ศิลปินนักรัอง K-Pop รุ่นใหม่ๆ จากภูมิภาคต่างๆ ของเกาหลีใต้ และพร้อมผลักดันเยาวชนที่มีพรสวรรค์และความสามารถด้านนี้เข้าสู่ตลาดโลก
2) นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทผู้ประกอบการกิจการสื่อ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมผลประโยชน์ของผู้ประกอบการด้านภาษี/ การสนับสนุนการเงินการลงทุนของบรรดาบริษัทที่ถือครองทรัพย์สินทางปัญญา (IPs – Intellectual Properties) บริษัทบริหารจัดการ-จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์เกาหลีใต้ที่ทำธุรกิจในระดับนานาชาติ
3) นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสื่อรายย่อย/ ธุรกิจด้านคอนเทนต์ขนาดเล็ก (Small Content Businesses) ผ่านมาตรการด้านการเงินในกรอบการสนับสนุนที่สูงขึ้นราวสามเท่า เมื่อเทียบกับแนวทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในรอบห้าปีก่อนหน้านี้ (2017 – 2021)
4) นโยบายการส่งเสริมการพัฒนา K-Metaworld ขยายและส่งต่อคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้สู่ระบบนิเวศและโลกของสื่อใหม่ในอนาคต การส่งเสริมสร้างคอนเทนต์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเกาหลี K-Content ในโลกเสมือนจริง Virtual Reality
5) นโยบายและโครงการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อสร้างสรรค์เกาหลีใต้ ที่มุ่งส่งเสริมทั้งองคาพยพครอบคลุมในทุกสายงานการผลิต งานสร้างสรรค์ในแต่ละประเภท รูปแบบ แพลตฟอร์ม และภาคส่วนต่างๆ ของธุรกิจด้านคอนเทนต์ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรราว 10,000 คน ระยะเวลา 3 ปี ในโครงการส่งเสริมบุคลากรให้มีความชำนาญการด้านการวางแผนบริหารจัดการคอนเทนต์ การเสริมสมรรถนะบุคลากรในการผลิตผลงานสื่อด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ การเสริมความเชี่ยวชาญบุคลากรด้านการส่งออกคอนเทนต์สู่ตลาดนานาชาติ เป็นต้น
6) นโยบายการส่งเสริมภาคี/ องค์กรความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมสื่อ เพื่อรองรับวิถีธุรกิจและระบบเศรษฐกิจใหม่ สนับสนุนการประสานความร่วมมือระหว่างภาคการผลิตคอนเทนต์ร่วมสมัยและแพลตฟอร์มสื่อใหม่ของเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานการตลาดสู่สากล และใช้เป็นภาคส่วนนำร่องเพื่อเตรียมพร้อมสร้างแนวทางการปฏิรูปการกำกับดูแลนวัตกรรมสื่อใหม่ที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจใหม่ของโลกต่อไป
7) นโยบายที่ยึดหลักการ “ส่งเสริมสนับสนุนโดยไม่แทรกแซง” (“support but do not interfere”) คือแนวคิดหลักในการเสริมคุณค่าด้านสิทธิเสรีภาพของรัฐบาล ที่จะดำเนินการผ่านนโยบายด้านนวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์ คอนเทนต์ทางศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล
8) นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการแสดง นิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ อย่างเป็นระบบ อาทิ การเสนอ พ.ร.บ. การส่งเสริมศิลปะ (The Art Promotion Act) การสนับสนุนการจัดแสดงศิลปะ การแสดง และนวัตกรรมสื่อ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ Art Fair Frieze Seoul 2022-2026 และ KIAF – Korean International Art Fair (งานนิทรรศการระดับโลก)
9) นโยบายการส่งเสริมสนับสนุน ศิลปิน นักร้อง นักแสดงรุ่นใหม่ (K-POP, K-Content, K-Culture) โดยมีโครงการสนับสนุนทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่ม ผ่านโครงการการจัดสรรทุนและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ผลงานทั้งในขอบเขตระยะเวลาการสนับสนุนระยะสั้น (1 ปี) และ การพิจารณาในกรอบเวลามากกว่า 1 -3 ปี เป็นต้น
กรณีศึกษาความคืบหน้าของนโยบายรัฐบาลเกาหลีใต้ระยะเริ่มต้นใน ปี 2023
แนวทางการนำนโยบายไปสู่ภาคปฏิบัติ (Policy Implementation) โดย กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ที่มีเป้าหมายให้ “เกาหลีใต้เป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนวัฒนธรรมโลก” ที่สำคัญ (Cultural Powerhouse)
1) การเริ่มต้นสนับสนุนงบประมาณ/ ทุนในการผลิต “ละคร-ซีรีส์เกาหลี” สำหรับเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล: โอทีที-วิดีโอสตรีมมิ่ง และเพิ่มเติมวงเงินงบประมาณราว 30 ล้านวอน สนับสนุนงานหลังการผลิต (post-production อาทิ Subtitling และ Dubbing เป็นต้น)
2) การปรับระบบและขั้นตอนการตรวจพิจารณาความเหมาะสมทางด้านเนื้อหา (Self-rating System) ของคอนเทนต์ รายการ ภาพยนตร์ ที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล: โอทีที-วิดีโอสตรีมมิ่ง ให้สอดรับกับกำหนดเวลาการฉายและเผยแพร่ตามความต้องการของผู้ชมนานาชาติและกระแสของตลาดโลก ทั้งนี้เป็นไปตามกรอบกฎหมายด้านการพิจารณาเนื้อหาสื่อใหม่ที่ผ่านรัฐสภาเกาหลีใต้เมื่อ กันยายน 2022 ที่ผ่านมา
3) เริ่มโครงการสนับสนุนการลงทุนสำหรับกลุ่มกิจการบริษัท SFX – Special Effects โดยมีวงเงินงบประมาณในการสนับสนุนราว 1.47 หมื่นล้านวอน (2023-2025) และ โครงการงบประมาณราว 6.6 พันล้านวอน สนับสนุนการสร้างและพัฒนากิจการสตูดิโอในเมือง “ปูซาน” ภายในปี 2025
4) การกำหนดมาตรวัดผลสัมฤทธิ์ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ: กระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ตั้งเป้าหมายให้มูลค่าการส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรม (The Annual Exports of Cultural Content) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมคอนเทนต์เกาหลีใต้ ให้บรรลุมูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ในปี 2023 และ 2.2 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2027
“นี่คือโรดแมปของประเทศต่าง ๆ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล ซึ่งประเทศไทยมีกรณีศึกษาที่สำคัญอย่างการขายลิขสิทธิ์รายการในต่างประเทศของเวิร์คพอยท์ ซีรีส์ละครไทยอย่างบุพเพสันนิวาส รวมถึงการปักธงในตลาดโลกของซีรีส์วาย สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไข คือการปรับมายด์เช็ทขององค์กรกำกับดูแล สนับสนุนให้กิจการสื่อปรับตัวเข้ากับยุคสมัย องค์กรของรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนด้านเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้” ดร.สิขเรศ กล่าว
โอกาสคอนเทนต์ไทยในตลาดโลก
สิ่งสำคัญที่จะนำพาคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก คอนเทนต์นั้นจะต้องมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ซึ่งดร.สิขเรศ มองว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีพัฒนาการมากขึ้น แต่ต้องมีวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนเพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อน การสร้างวัฒนธรรมเอเชีย การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของคนเอเชีย เช่น ความผูกพันในครอบครัว ถือเป็นความโดดเด่น ที่ให้กลิ่นอายและรสสัมผัสที่มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง และไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ต้องเพิ่มความเป็นธรรมชาติแบบไทย เช่น ความสวย ความหล่อแบบไทย ที่สามารถชักจูงและโน้มน้าวผู้ชมในต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตาม ดร.สิขเรศ อยากดึงสติของอุตสาหกรรมให้กลับมาในสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการพัฒนาบุคลากร เราอย่าไปถูกหลอกว่านิเทศศาสตร์ตายแล้ว วันนี้การจะขับเคลื่อนคอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดโลก มีคนอยู่เบื้องหลังเป็นจำนวนมาก และคนเหล่านั้นมีส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้คอนเทนต์ไทยไปสู่ตลาดโลกได้หรือไม่ ด้วยการยกระดับคุณภาพของคนเบื้องหลัง การจะสร้างสรรค์งานระดับโลกได้ ต้องให้ความสำคัญกับสวัสดิการ สวัสดิภาพของคนในกองถ่าย
“กิจการโทรทัศน์ไทยยังไปต่อได้ ผ่านการสร้างโรดแมปที่มีความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ผ่านการสร้างอุตสาหกรรมที่องค์กรกำกับและผู้ประกอบการต้องเดินไปด้วยกัน บางครั้งต้องสนับสนุน สร้างความเข้าใจ ที่ผ่านมา เราสร้างรากฐานให้มั่นคง กฎ ระเบียบ มาสมควรแล้ว มิติใหม่ที่จะเกิดขึ้นใน 5 ปีจากนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ต้องส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์เป็นแฟลกชิพให้ได้ใน 3 - 5 ปีข้างหน้า เป็นการปูทางไปสู่ระบบนิเวศใหม่ สู่โลกของความเป็นจริง ที่ทำให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น” ดร.สิขเรศ กล่าวทิ้งท้าย
30 ต.ค. 2565