PDPA สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์

Last updated: 27 พ.ค. 2566  |  1451 จำนวนผู้เข้าชม  | 

PDPA สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์

 

ข้อควรรู้ กฎหมาย PDPA

สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์

 

อย่างไรที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (Personal Data Protection Act: PDPA) คือกฎหมายที่ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาการถูกล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน อย่างที่หลายๆ คนประสบพบเจอแม้แต่คนในครอบครัวหรือแม้กระทั่งตัวของเราเองก็ตาม ที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน ที่ทราบกันอยู่คือการโทรเข้ามาหลวกลวง ที่เรียกกันว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ทำไมกลุ่มคนเหล่านี้ถึงได้เบอร์โทรศัพท์ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคคลของเรามาจากไหน

กฎหมาย PDPA ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 แต่ก็ได้บังคับใช้แบบไม่เต็มรูปแบบมาประมาณ 2 ปี การคุกคามของผู้ที่ละเมิดก็ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศไปแล้ว ซึ่งคงต้องยอมรับความจริงว่าการแก้ปัญหานี้จะต้องบูรณาการหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังถึงจะสำเร็จ เพราะเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็คงจะไม่มีบุคลากรเพียงพอที่จะดูแลอย่างทั่วถึง

 กฎหมาย PDPA มีอำนาจครอบคลุมไปถึงหน่วยงาน องค์กรต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่องต่างๆ ที่ยังคงเกิดความสงสัย ว่าสิ่งใดกระทำได้ สิ่งใดกระทำไม่ได้ จึงเป็นที่มาให้สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้ จัดอบรมเกี่ยวกับเรื่อง PDPA สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ โดยเฉพาะ โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในวงการกฎหมายดิจิทัล เช่น นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ และผู้เชียวชาญด้านสื่อสารมวลชน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ให้ความรู้และเสนอทางออกแก่ผู้มีวิชาชีพประกอบกิจการโทรทัศน์ และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ไว้อย่างน่าสนใจ

 

ความเข้าใจที่ถูกต้องกฎหมาย PDPA

นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ กล่าวว่า กฎหมาย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่มีการเข้าใจผิดกันจำนวนมาก เพราะกฎหมาย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยหลักจะมีการเข้าใจผิดกันอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรกที่มักจะเข้าใจผิดและเป็นปัญหาเรื่องการตีความ เมื่อกฎหมาย PDPA ออกมาบังคับใช้ในส่วนของประชาชนหรือบุคคลธรรมดาหรือภาคธุรกิจจะต้องมีความผิดทางกฎหมายทั้งหมด กฎหมาย PDPA เป็นกฎหมายเฉพาะพิเศษ เพราะในส่วนภาคธุรกิจและภาครัฐจะมีกฎหมายที่ดูแลอยู่แล้ว อย่างสื่อก็จะมีกฎหมายสื่อ ไม่ได้หมายความว่าทุกภาคส่วนจะต้องมาปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA ทั้งหมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เหตุที่มาของกฎหมายฉบับนี้ก็เพราะประเทศของเรากำลังอยู่ในช่วงของ (Data-driven Economy) เราสามารถส่งข้อมูลส่วนบุคคลผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งสื่อมวลชนก็ต้องใช้ในการสื่อสารเช่นกัน เช่น สื่อโซเชียล มีเดีย (Social Media) ต่างๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น Youtube Facebook และ TikTok เป็นต้น

 ในแง่ของการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลจะมีค่อนข้างมากไม่ใช่เฉพาะผู้สื่อข่าวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้สหภาพยุโรป (EU) จึงได้เกิดแนวคิดว่าควรมีกฎมายฉบับหนึ่งที่มาระบุว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ หมายความว่าขั้นตอนในการใช้ต้องมีการจัดเก็บที่ถูกต้องและเมื่อมีเหตุข้อมูลรั่วไหลก็จะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบ โดยหลักเกณฑ์ของกฎหมายก็จะมีอยู่แค่นี้

“กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายใหม่ เพราะจริงๆ เป็นกฎหมายที่ออกตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติไว้ตามที่พวกเราเข้าใจกันดีก็คือการคุ้มครองเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ยกตัวอย่างเช่น กรณีการนำรูปภาพของคนอื่นไปตัดต่อ การดำเนินการในอดีต ผู้เสียหายจะต้องไปฟ้องแพ่งและยังไม่มีกฎหมายรองรับ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการเสียค่าทนายความและบังคับทางกฎหมายก็ไม่ได้  แต่ในขณะนี้ตัวอย่างที่กล่าวมานั้น จะต้องมาทำตามกฎหมายฉบับนี้เพราะถ้าไม่ทำ ประเทศไทยจะถูกแทรกแซง (Sangtion) จากสหภาพยุโรป (EU) เหมือนกับกรณีเรื่องประมง จึงทำให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา”

กฎหมายฉบับนี้ได้ให้กำหนดมาตรการว่ากรณีมีการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในแต่ละส่วนจะต้องมีมาตรการในการดูแลอย่างไร มีการสร้างกลไกให้มีโทษทางอาญา ในกรณีที่เราเก็บข้อมูลส่วนบุคคลที่มีลักษณะพิเศษ และใช้ข้อมูลลักษณะพิเศษ เช่น ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลประวัติอาชญากรรม พฤติกรรมทางเพศ ภาพสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นข้อมูลอ่อนไหวพิเศษ (Sensitive Data) เหตุผลที่ต้องมีโทษจำคุกเข้ามา เพราะว่าการนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ เช่น การสแกนใบหน้า สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงินได้ หรือการเอาข้อมูลลายนิ้วมือไปตัดต่อ ก็จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูล หรือเจ้าของข้อมูลอาจจะเป็นโรคบางอย่างที่เกี่ยวกับสุขภาพ หรือเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ การนำข้อมูลไปเผยแพร่ และทำให้เกิดความเสียหายจึงกำหนดให้มีโทษทางอาญา

ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าสื่อมวลชน มีสิทธิและเสรีภาพที่จะเปิดเผยข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ เพราะเป็นเสมือนผู้เฝ้าระวังให้กับประเทศ และเฝ้าระวังให้กับประชาชน ยกเว้นทั้งฉบับไม่บังคับใช้กับสื่อมวลชน ที่ดำเนินการตามประมวลจริยธรรม มีหลายๆ คำถามว่า “สื่อมวลชน” หมายถึงอะไร “Influencer” ต่างๆ ในเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นสื่อมวลชนหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เนื่องจากสิทธิที่ยกเว้นให้กับสื่อมวลชนทั้งฉบับ ก็คือให้กับสื่อมวลชนที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับความมั่นคงของประเทศ ดังนั้นสื่อมวลชนที่ได้รับการยกเว้นจึงเป็นสื่อมวลชนที่มีประมวลจริยธรรมและมีมาตรฐานทางวิชาชีพมีองค์กรกำกับดูแล

ทำไมต้องยกเว้นสื่อมวลชน เพราะสื่อมวลชนรู้ว่าอะไรที่ควรรายงานและไม่ควรรายงาน และตอนนี้ทางสื่อมวลชน ได้ทำประมวลจริยธรรมขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะเขียนไว้ว่าอะไรทำได้อะไรทำไม่ได้ แล้วทำไม Youtuber ถึงไม่ได้รับการยกเว้น เหตุถ้าจะได้รับยกเว้นจะต้องเป็นสื่อมวลชนที่เทียบเท่ากับความมั่นคงของประเทศ ที่มีสังกัดและประมวลจริยธรรม เนื่องจากเมื่อมีผิดพลาด ต้องมีการติดต่อ ฟ้องร้อง ถึงแม้ “Influencer” ที่มีคนติดตามเยอะแต่ความรับผิดชอบทางจริยธรรมไม่มี ดังนั้น จึงไม่ใช่สื่อมวลชนในมาตรา 4(3)

สื่อมวลชนได้รับข้อยกเว้นถึง 4 กฎหมายด้วยกัน คือ 1.ได้รับการยกเว้นเรื่องหมิ่นประมาท ถ้ารายงานตามมาตรา 229 ได้รับการยกเว้นเรื่อง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ถ้าเป็นการรายงานข่าวของสื่อมวลชนได้รับการยกเว้น 3. ยกเว้นเรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ถ้าเป็นสื่อมวลชนรายงานข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะได้รับการยกเว้น และคราวนี้มายกเว้นในกฎหมาย PDPA ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีกลไกการกำกับดูแลผ่านกฎหมายลูก ซึ่งได้เขียนไว้ว่ามาตรการโทษปรับทางการปกครองให้ดูความระมัดระวังและประมวลจริยธรรม ผลกระทบต่อองค์กรและธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น อันนี้จะช่วยสื่อมวลชนได้มาก เพราะถ้าดูในทางปฏิบัติ ถ้าไปขัดขวางการดำเนินงานของสื่อมวลชนก็จะรายงานข่าวไม่ได้ มาตรา 3 เขียนไว้ว่าถ้าหน่วยงานใดที่มีองค์กรกำกับดูแลเฉพาะ ให้องค์กรนั้นออกหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล เพราะกรรมการมี 11 คน ไม่สามารถไปทำงานให้กับประชาชน 75 ล้านคนได้ทั่วถึง อีกทั้งในปัจจุบัน ข้อมูลมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาทั่วโลก ดังนั้นสภาวิชาชีพจึงมีหน้าที่ ที่สำคัญคือจะต้องเอาประมวลจริยธรรมมาพิจารณาและอบรมกับพวกเรา

 

กำกับดูแลผ่านองค์กรวิชาชีพ

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี กล่าวว่า โดยพื้นฐานองค์กรสื่อใหญ่ๆ จะมีสังกัดในองค์กรวิชาชีพอยู่แล้ว อย่างเช่น สมาชิกของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ก็เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพกิจการแพร่ภาพและกิจการโทรทัศน์ ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกันเองเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และหลายช่องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งจะกำกับดูแลกันเองในเรื่องรายการข่าว และหลายช่องก็เป็นสมาชิกสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ

กฎหมาย PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ปรับมาจาก GDPR กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป ซึ่งในกฎหมายของยุโรปก็จะมีข้อยกเว้นตามมาตรา 4(3) เช่นเดียวกับของประเทศไทย

ซึ่งในตอนนี้ในเรื่องประมวลจริยธรรม ทางกลุ่มวิชาชีพเกือบทั้งหมดจะมีประมวลจริยธรรมเกือบทั้งหมดแล้ว แต่จะมีปัญหาในส่วนของสำนักข่าวออนไลน์ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาวิชาชีพ แล้วจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่ ซึ่งจริงๆ พวกเขาเหล่านั้นสามารถรวมตัวเป็นรูปแบบสมาคมและไปทำประมวลจริยธรรมขึ้นมา ก็ได้รับความคุ้มครอง หรือจะอยู่แบบเดี่ยวๆ ก็ได้แต่ขอให้มีประมวลจริยธรรมเป็นของตนเองและต้องประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบ แต่ก็จะต้องดูว่าประมวลจริยธรรมของแต่ละอันนั้นสอดคล้องกับหลักจริยธรมสากลหรือไม่  

“สื่อเป็นวิชาชีพที่ต้องอาศัยความมีอิสระและเสรีภาพอาจจะแตกต่างจากวิชาชีพทนายความ เพราะอาชีพทนายความคนที่จะเป็นทนายความได้จะต้องจบนิติศาสตร์ หรือคนจบนิติศาสตร์มีสิทธิที่จะได้เป็นทนายความ แต่สำหรับสื่อมวลชนไม่ใช่ เพราะอาชีพสื่อเป็นอาชีพที่เปิดกว้างมีความหลากหลายทางความคิด เพราะฉะนั้นการกำกับดูแลจะไม่ไปกำกับดูแลที่ตัวบุคคล เขาจะกำกับดูแลที่องค์กร ว่าองค์กรนั้นได้ปฏิบัติตามจริยธรรมหรือไม่ ถ้าคนในองค์กรละเมิดจริยธรรม ก็ให้ไปผ่านองค์กรเพื่อดำเนินการกับคนที่ละเมิดจริยธรรม ถ้าองค์กรไม่ดำเนินการ กรรมการที่ดูแลเรื่องนี้อยู่และองค์กรสื่อนั้นจะต้องเป็นผู้รับผิดทางจริยธรรม”

ปัญหาที่พบเจอสำหรับคนทำโทรทัศน์ก็คือเรื่องของการเสนอข่าว ซึ่งเป็นข่าวรายวัน เช่น การไปถ่ายสถานที่เกิดเหตุ การแถลงข่าว คือไปทุกๆ ที่ที่มีข่าว ซึ่งอาจจะถ่ายภาพติดภาพบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าว จึงมีคำถามว่าทางช่องสถานีจะต้องไปขอความยินยอมก่อนหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องเพราะเป็นการรายงานข่าวปกติ แต่มีข้อยกเว้นในบางเรื่อง เช่น การนำเสนอข่าวบันเทิง ยกตัวอย่างเช่น มีดาราท่านหนึ่ง มีงานแถลงข่าว เราสามารถถ่ายได้ตามปกติ แต่เรามาทราบว่าดาราท่านนี้มีแฟนแล้ว แต่เขาไม่อยากเปิดเผย แต่เราพยายามถ่ายให้เห็นแฟนดาราท่านนี้ แล้วโปรยหัวข่าวว่า “ดาราซุกแฟน” เป็นต้น อันนี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย PDPA

ยกตัวอย่างเพิ่มเติม เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่มีดาราช่องหนึ่งเสียชีวิต แล้วสื่อไปถ่ายโดยถ่ายทอดผ่าน Facebook Live แฟนของเขาที่นั่งร้องไห้อยู่ในงานศพ อันนี้จะทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย PDPA ซึ่งอันนี้เป็นสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการถ่ายทอดสด การฆ่าตัวตาย เป็นต้น ซึ่งขัดแย้งต่อประมวลจริยธรรมด้วย ตรงนี้เราต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะสื่อจะถูกโจมตี จากเรื่องพวกนี้ค่อนข้างมาก โทษหลักของของกฎหมาย PDPA คือปรับทางการปกครอง ส่วนผิดกฎหมายอาญา จะไปในส่วนของการเก็บข้อมูลอ่อนไหวพิเศษ เช่น ทำข่าวว่าดารา A ไปซื้อบริการทางเพศ และเรื่องข้อมูลสุขภาพ เช่น เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ หรือเผยแพร่ข้อมูลอาชญากรรม

อีกหนึ่งประเด็นคือเรื่องเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่าง กรณี เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถึงแม้จะถ่ายภาพโดยคลุมศรีษะหรือถ่ายภาพในมุมมืด แต่ผู้ชมก็รับรู้ได้ว่าเป็นเด็ก เพราะฉะนั้นการทำรายการแบบนี้จะกระทำไม่ได้ เนื่องจากผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546  พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550  พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมาย PDPA ด้วย เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อีกอย่างที่ต้องระวังก็คือการเข้าทำข่าวทลายบ่อนทลายซ่องโสเภณี เป็นต้น ก็เป็นประเด็นถกเถียงกันมานานแล้วก่อนที่จะมีกฎหมาย PDPA คือสื่อมวลชนมีสิทธิที่จะเข้าไปหรือไม่ ซึ่งก็มีหลายกรณีเช่นกันที่สื่อถูกฟ้องบุกรุก เพราะเราไม่สิทธิเข้าไปตามหมายศาล และเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะกฎหมาย PDPA อย่างเดียว เรื่องการกำกับดูแลกันเอง หน่วยงานที่กำกับดูแลก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยอยู่แล้ว กรณีผิดกฎหมาย PDPA และผู้บริหารจะได้รับโทษด้วย

“เพื่อให้มีแนวทางในการปฎิบัติชัดเจน ทุกๆสถานีควรมีแนวปฎิบัติสำหรับกองบรรณาธิการ หรือที่เรียกว่า (Editorial Guideline) ซึ่งในส่วนของทางไทยรัฐทีวีมีแล้ว และใช้ในส่วนของโทรทัศน์ ออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ ซึ่งระบุไว้ชัดเจน ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ การมีแนวปฏิบัติสำหรับกองบรรณาธิการ จะทำให้ผู้บริหารของสถานีรอดจากการรับโทษ เพราะนักข่าวกองบรรณาธิการจะต้องทำตาม (Editorial Guideline) ซึ่งเป็นการกำกับดูแลกันเอง (Self Regulation) แต่ถ้าเราเลือกที่จะแตกต่างเพื่อเรตติ้งหรือจะเพราะอะไรก็ตาม ให้คิดก่อนแล้วก็ถามกองบรรณาธิการ เพราะเวลาออกอากาศไปแล้ว เราจะเจอกับกฎหมายหมิ่นประมาท พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ และจะมาคู่กับกฎหมาย PDPA เกือบทุกเรื่อง อันนี้เป็นจุดที่ต้องระมัดระวัง” นายชวรงค์ระบุ

สุดท้ายนี้ กฎหมายฉบับนี้ไม่ปิดกั้นการสร้างสรรค์และการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน เพียงแต่บอกว่าการรายงานที่กระทบข้อมูลส่วนบุคคลต้องระวังมากยิ่งขึ้น จุดที่จะช่วยพวกเรา (สื่อมวลชน) ได้มากกว่าธุรกิจประเภทอื่นๆ ก็คือ ประมวลจริยธรรมและแนวทางปฎิบัติ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะเป็นเหมือนเกราะสำหรับพวกเรา ในปีแรกอาจจะมีการร้องเรียนเข้ามามาก เพราะฉะนั้นก็จะต้องป้องกันตัวเองให้ดี ในอีกปี 2 ปีข้างหน้า กฎหมายฉบับนี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าสิ่งไหนควรปฏิบัติสิ่งใดควรหลีกเลี่ยง ซึ่งในขณะนี้หลายๆ สื่อได้ละเลยเรื่องจริยธรรมไปนานมากแล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่พวกเราจะได้มาทบทวนมาตรฐานจริยธรรมและแนวปฏิบัติกันอีกครั้ง




Q/A



*คำถาม /*คำตอบ


- กรณีรายการสด ไม่มีเวลาไปเบลอภาพและไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติ มีวิธีการดำเนินการอย่างไร ?

สื่อมวลชนจะมีข้อให้พิจารณาอยู่สองส่วน ถ้าเราต้องการจะยกเว้นทั้งฉบับต้องไปเขียนในประมวลจริยธรรม แต่ถ้าไม่มีในประมวลจริยธรรม กรณีที่รายงานสดเรื่องอุทกภัย ไฟไหม้ ก็จะเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่แล้ว ถ้าเป็นกรณีรายงานสด ต้องดูว่ารายงานสดเรื่องอะไร ยกตัวอย่างเช่น ไปสัมภาษณ์แล้วมี Background เป็นประชาชนจะต้องขอความยินยอมหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้องขออนุญาต เพราะในเรื่องของการขอความยินยอมได้เขียนระบุไว้ว่าเป็นสภาพที่ไม่สามารถดำเนินการได้ รายการสดยังทำได้เหมือนเดิม แต่ให้ระมัดระวังในบางประเด็น เช่น รายการสด ที่มีการโต้เถียงแล้วเอาหลักฐานมาโชว์กัน กรณีนี้ ให้พูดในรายการเพื่อป้องกันตนเอง เช่น“กรณีนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ขอแนะนำให้ทุกคนหยุด เพราะในส่วนของกฎหมาย PDPA ผู้ดำเนินรายการอาจจะไม่สามารถรับผิดชอบได้ ต้องแจ้งทุกท่านที่ร่วมรายการไว้อย่างนี้ และสถานีควรใช้วิธีการตัดหรือวิธีการใดๆ ในกรณีผู้ร่วมรายการยังกระทำต่อก็ให้รับเป็นการส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานี ซึ่งสิ่งที่กฎหมายต้องการคือ เราจะเยียวยาปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลอย่างไร และอาจจะต้องถามสภาวิชาชีพสื่อว่า ในกรณีแบบนี้ถือว่าเป็นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลแล้วหรือยัง ถ้าทางสภาวิชาชีพสื่อเห็นว่าปกป้องแล้ว ก็สามารถกระทำได้


- กรณีหลวงปู่แสง เราได้เรียนรู้ PDPA จากกรณีนี้อย่างไรบ้าง ?


กรณีหลวงปู่แสง สื่อที่เข้าร่วมมีความผิดทั้งกลุ่ม เพราะว่า เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผิดกฎหมาย PDPA ทั้งฉบับ ถ้ามีการร้องเรียนเข้ามา จะต้องถูกคณะกรรมเรียกมาสอบและในส่วนของผู้บริหารก็ต้องได้รับโทษด้วย เว้นแต่ผู้บริหารจะมีการพิสูจน์ว่าได้ห้ามหรือมีการทักท้วงเรื่องนี้ก่อนแล้ว เพราะสื่อที่เข้าไปทำข่าว ไม่ใช่ตำรวจและไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และเป็นเรื่องส่วนบุคคลชัดเจน

ในกรณีนี้ ในส่วนของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน คือมีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนภายในองค์กร ซึ่งทุกๆสถานีที่ได้ทำใบอนุญาตกับทางกสทช. ก็ต้องทำแนวปฏิบัติเรื่องการรับเรืองร้องเรียน  ซึ่งคณะกรรมการจะต้องประกอบด้วยบุคคลภายนอกด้วย เพื่อทำให้สาธารณชนมีความเชื่อมั่นระดับหนึ่งว่าในการพิจารณา ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเดียวกัน และให้คณะกรรมการพิจารณารับเรื่องร้องเรียนมีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง แจ้งให้สภาการสื่อมวลชนทราบสาธารณชนทราบ และให้มีแนวทางการป้องกันการเกิดปัญหาในลักษณะนี้ เพื่อจะไม่มีปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

กรณีหลวงปู่แสงเป็นกรณีศึกษา เพราะ  มีความผิดทางอาญาด้วย เพราะเป็นพฤติกรรมทางเพศ และหลวงปู่แสงเป็นโรคความจำเสื่อมอาจจะถือว่าเป็นการพิการทางสมอง ถ้าเรานำข่าวคนพิการหรือโรคความจำเสื่อม จะมีโทษทางอาญา


- การถ่ายทอดรายการกีฬา เช่นกีฬามวย กีฬาต่างๆ จะต้องแจ้งผู้ชมหรือไม่ว่ามีการบันทึกเทป และจะแจ้งอย่างไร ?


วิธีแจ้งก็คือ ก่อนที่จะบันทึก ในทางเข้าจะต้องมีการแจ้งว่า “บริเวณนี้ จะมีการบันทึกภาพ (กล้องวงจรปิด) เพื่อบันทึกเทปนำไปออกอากาศ ก็ถือว่าผู้เข้าร่วมรับทราบแล้ว เพราะเป็นการดำเนินการทางธุรกิจ การชกมวยก็ต้องมีคนชม การถ่ายภาพก็เป็นเรื่องปกติสามารถดำเนินการได้เหมือนเดิม
รายการสดหรือการเก็บภาพออกบูธกิจกรรมหรืองานอีเวนต์ที่มีคนพลุกพล่านอาจจะไม่ได้มีการแจ้งหรือการประกาศได้ เราจะสามารถเก็บภาพของคนในงานได้หรือไม่ ?
ทำเหมือนกับเวลาที่ทำงานแฟร์หรืองานแฟนคลับ บริเวณทางเข้าควรจะมีป้ายแจ้งว่าจะมีการบันทึกภาพในงาน หรือกรณีไม่ได้ติด ก็ให้พิธีกรแจ้งบนเวที  เพราะได้รับการยกเว้นในส่วนของการประกอบกิจการหรือส่งเสริมธุรกิจของพวกเรา จะยกเว้นเรื่องความยินยอม แต่จะต้องแจ้งให้ทราบ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณี ของโน๊ต อุดม ที่จะจัดให้มีคอนเสิร์ต ซึ่งในคอนเทนต์จะมีการถ่ายภาพผู้เข้าร่วม และนำเทปบันทึกภาพไปจำหน่าย กรณีนี้ให้ทำเป็นข้อตกลง เช่นเป็น QR CODE และให้ผู้เข้าชมคอนเสิร์ตกดยอมรับ หรือเงื่อนไขอยู่ในเว็บไซต์ตอนที่ที่จำหน่ายตั๋ว หรือเงื่อนไขในหลังบัตรว่า งานครั้งนี้มีความเป็นต้องบันทึกข้อมูลส่วนตัวของท่านเพื่อกิจการของบริษัท ซึ่งสามารถบันทึกได้ แต่ต้องมีการแจ้ง และมีบรรทึกข้อตกลง

 
- กรณีคุณแอนนา หวยทิพย์ ที่สื่อไปถ่ายรูปในช่วงลงจากเครื่องบิน คุณแอนนา พูดว่า ของใช้สิทธิ์ PDPA จึงอยากจะทราบว่ากรณีนี้ทางสื่อสามารถที่จะไปถ่ายภาพได้หรือไม่ ?


สามารถตอบได้สองประเด็น ประเด็นแรกก็คือเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะเกี่ยวเนื่องกับการหลวกลวงประชาชน โดยลักษณะควรจะเบลอหน้า เพราะตามประมวลจริยธรมเขียนไว้ กรณีที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด ก็ควรจะเบลอหน้า แต่การถ่ายทำรายการ ยังทำได้เหมือนเดิม เพราะฐานเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่สมมติว่าเกิดการฟ้องร้อง ทางคณะกรรมการฯอาจจะพิจารณาว่าเป็นเรื่องของการหลอกลวงประชาชนเป็นผลกระทบในวงกว้าง  แต่ในกรณีที่ถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มเดินลงจากเครื่องบินมา ถือว่าผิดเพราะว่าเป็นการคุกคามตั้งแต่แรก ซึ่งไม่แตกต่างจากปาปารัสซี ในความจริงสามารถถ่ายได้ช่วงเดียวคือตอนเข้าจับกุมผู้ต้องหาแล้ว ในส่วนของเก็บภาพ (Stocker) คิดว่ามันเกินขอบเขตในส่วนที่ทางสื่อมวลชนควรจะทำการถ่ายภาพคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของผู้ตกเป็นข่าว


- เนื่องจากคุณแอนนา เป็นดาราเป็นบุคคลสาธารณะ เราสามารถบันทึกได้ไหม ?


การแอบถ่าย ถือว่าเป็นการผิด PDPA อย่างชัดเจน จะแอบถ่ายได้ในกรณี เช่นตำรวจรับสินบน เป็นต้น ถ้าสื่อถ่ายสามารถจกระทำได้จนจบกระบวนการ ประชาชนทำได้คือส่งให้สื่อมวลชนหรือศาลเป็นผู้ดำเนินการ

เป็นความเข้าใจผิดของสื่อมวลชนจำนวนมาก ถ้าเป็นบุคคลสาธารณะแล้วจะทำอะไรก็ได้ จะนำเสนออะไรก็ได้ ในกฎหมายไทยไม่มีระบุว่า “บุคคลสาธารณะ”

บุคคลสาธารณะจะมาจากปัญหาการหมิ่นประมาท เพราะมีการฟ้องสื่อจำนวนมาก ศาลจะยกเว้นความผิดของสื่อก็เมื่อพิจารณาว่า การที่บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็นคนที่อยู่ในสาธารณะ ทำงานอยู่ในองค์กรสาธารณะที่บริการคนมากมาย เช่น นักการเมืองทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน ดังนั้นบุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็นบุคคลสาธารณะไม่ใช้ความผิดฐานหมิ่นประมาท  

 
- การใช้ภาพ INSERT จากแฟ้มภาพมาใช้ซ้ำต้องระวังอย่างไร ?


ภาพ Insert สื่อมวลชนสามารถใช้ได้อยู่แล้วเพราะได้รับการยกเว้นตามมาตรา 4(3) เรื่องของสื่อ งานวรรณกรรม ศิลปกรรม แต่ถ้าเราถ่ายภาพ Insert ให้ดูวัตถุประสงค์ของการใช้ เช่นถ่ายรูปคนเดินตามสยามสแควร์ ถ่ายภาพได้เพื่อนำเสนอข่าวเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราไปพาดหัวข่าวว่า นักศึกษาในสมัยนี้ขายตัวกันเยอะมาก อันนี้จะมีประเด็น เพราะการใช้ของเรานั่นอาจจะทำให้ผู้อยู่ในภาพได้รับความเสื่อมเสีย และระวังเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะถ้าฟ้องลิขสิทธิ์จะตามมาด้วย PDPA ด้วย


- ในกรณีแข่งขันฟุตบอล ช่างภาพไปเก็บภาพบรรยากาศของการแข่งขัน แต่ทางเจ้าภาพไม่ได้มีการติดประกาศ ช่างภาพสามารถทำอย่างไรได้บ้าง ?


ให้ช่างภาพบอกกล่าวในตอนนั้นเลยว่า ขออนุญาตถ่ายภาพ หรือสามารถบอกพิธีกรในงานประกาศให้ผู้ชมทราบว่า วันนี้จะมีการถ่ายภาพ ถ้าใครไม่อยากถ่ายภาพให้ออกไปจากบริเวณนี้ ก็แจ้งประมาณนี้ ที่กฎหมายกำหนดก็คือให้แจ้งก่อน (Right to be informed)


- กรณีการถ่ายภาพเข้าร่วมประกวด อาจจะถ่ายที่มีทั้งคนรู้จักและไม่รู้จัก ซึ่งในแชร์ในโซเชียล มีเดีย ต่างๆ ซึ่งแชร์โดยเจ้าของภาพเอง และไม่ใช่เจ้าของภาพทำได้หรือไม่ และระมัดระวังอย่างไร ?


กรณีนี้จะไม่ได้ยกเว้นทั้งฉบับ จะต้องไปดูที่ 7 ฐานที่เคยบอก ส่งภาพประกวดจะมี 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็คือ กฎหมายลิขสิทธิ์ และ กฎหมาย PDPA เพราะฉะนั้นเวลาสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อประกวดต้องมีเงื่อนไขในการเข้าประกวด เช่น ข้าพเจ้าขอรับรองว่าภาพหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ใช้ในการประกวดนี้ไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งข้อมูลส่วนบุคคลประเภทใดๆ หากเกิดความเสียหายข้าพเจ้ายินดี สรุปว่าทำได้เหมือนเดิม

 

 

 




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้